โรคตาแดง ปัญหาสุขภาพที่พบมากในช่วงฤดูฝน

โรคตาแดง

“ตาแดง” คืออาการของโรคที่ทุกคนมีความเสี่ยงและมีโอกาสเป็นกันได้ง่ายทุกช่วงวัย จากการติดต่อหรือสัมผัสกับผู้ป่วย และโรคตาแดงยังพบมากในช่วงฤดูฝนที่สภาพอากาศมีความชื้นสูง เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรค เพื่อป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคตาแดงในช่วงหน้าฝนนี้ aufarm.shop มีความรู้เรื่องโรคตาแดงและวิธีดูแลสุขภาพมาแนะนำค่ะ

โรคตาแดง คืออะไร ?

โรคตาแดง (Conjunctivitis) คือโรคที่เนื้อเยื่อบางใสที่คลุมอยู่บนตาขาวเกิดการอักเสบและเส้นเลือดฝอยเกิดการขยายตัว โดยบริเวณตาจะมีสีแดงอ่อนถึงแดงจัดขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการอักเสบ ลักษณะของโรคตาแดงอาจเป็นได้ทั้งแบบเฉียบพลันหรือแบบเรื้อรัง และตาแดงยังเป็นโรคที่พบได้ตลอดปี มักแพร่ระบาดในช่วงฤดูฝน

สาเหตุของโรคตาแดง

โรคตาแดงเกิดจากการติดเชื้อส่วนใหญ่มักเป็นเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจเกิดพร้อมกับโรคหวัดหรือการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุของโรคตาแดง เช่น

  • เกิดจากการเป็นโรคภูมิแพ้ ทำให้ติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย
  • การเจ็บป่วยที่ทำให้เกิดความเสียหายที่เส้นประสาทตา หรือมีเลือดออกที่ใต้เยื่อบุตา
  • เกิดจากการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งของผู้ป่วยตาแดง เช่น น้ำตาหรือขี้ตาที่ติดอยู่ตามสิ่งของหรือในน้ำ แล้วมาสัมผัสที่ตา
  • การเล่นน้ำในที่แหล่งน้ำท่วมขังและสกปรก
  • การได้รับเชื้อโรคจากพาหะ เช่น แมลงหวี่ หรือแมลงวัน
รถสาถารณะ

ภาพโดย Free-Photos จาก Pixabay

การติดต่อของโรคตาแดง

การติดต่อของโรคตาแดง สามารถติดต่อหรือระบาดกันได้ง่าย โดยเชื้อสามารถแพร่กระจายได้ตามสถานที่ ที่มีหมู่คนอยู่รวมกันมาก ๆ เช่น รถโดยสาร รถไฟฟ้า ตามสถานที่สาธารณะที่ใช้ร่วมกันเช่น ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน โรงพยาบาล และมักพบมากในเด็กอีกด้วย การติดต่อของโรคตาแดง ติดต่อได้หลายทาง เช่น การสัมผัสน้ำตาหรือขี้ตาของผู้ป่วยโดยตรง และการใช้ของส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แว่นตา หรือเครื่องสำอางร่วมกันกับผู้ป่วย

อาการของโรคตาแดงและการวินิจฉัย

อาการของโรคตาแดงมักเกิดข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างพร้อม ๆ กัน โดยจะมีอาการน้ำตาไหล ปวดตา แสบตา มีอาการคันเปลือกตา เปลือกตาบวมแดง อักเสบ มีขี้ตา ขนตาร่วง มองภาพไม่ชัด บางรายอาจมีไข้และไอร่วมด้วย ลักษณะและอาการตาแดงที่ต้องรีบพบแพทย์ ได้แก่ มีตาแดงร่วมกับปวดตาหรือมองแสงไม่ได้

สำหรับการวินิจฉัยของแพทย์ เนื่องจากตาแดงเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ การวินิจฉัยด้วยลักษณะภายนอกและการมองด้วยตาเปล่าจึงอาจไม่ละเอียดพอ แพทย์อาจจะทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ เช่น

  • การตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ โดยการทำ patch test
  • การขูดเยื่อตาเพื่อนำไปหาเชื้อราหรือเชื้อ Chlamydia เพื่อดูความผิดปกติของเซลล์
  • การตัดเอาเยื่อตาออกมาตรวจเพื่อหากลุ่มของโรค

การรักษาโรคตาแดง

ตาแดง เป็นโรคที่สามารถหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ผู้ที่ป่วยเป็นตาแดงควรพักผ่อนอยู่กับบ้านอย่างน้อย 3 วัน ส่วนการรักษาโรคตาแดงส่วนใหญ่ แพทย์จะทำการรักษาโรคนี้ตามสาเหตุที่พบ ดังนี้

  • โรคตาแดงที่เกิดจากเชื้อไวรัส ในกรณีนี้ผู้ป่วยมักหายได้เอง แต่ถ้าหากเป็นเชื้อพิเศษรุนแรง แพทย์จะใช้ยาต้านไวรัส หรือรักษาตามอาการ เช่น มีอาการคันก็จะให้ยาแก้คัน หากมีอาการปวดตาจะใช้ยาลดปวด
  • อาการตาแดงที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะเฉพาะที่ เช่น ยาหยอดตา ยาป้ายตา ร่วมกับการใช้ยากินหรือยาฉีด
  • ตาแดงที่เกิดจากการเป็นภูมิแพ้ ก็จะรักษาด้วยการประคบเย็น การหยอดน้ำตาเทียม และการใช้ยาร่วมกับการหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ด้วย
  • อาการตาแดง จากการสัมผัสสารเคมีหรือสารพิษ รักษาได้ด้วยการล้างตาและร่วมกับการใช้ยารักษาตามอาการและขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็นและความรุนแรงของโรค

วิธีป้องกันตนเองจากโรคตาแดง

ตาแดง แม้จะเป็นโรคที่สามารถหายได้เอง แต่ก็เป็นโรคที่เกิดได้จากหลายสาเหตุและติดต่อได้ง่าย เมื่อป่วยเป็นตาแดง จึงต้องระวังการแพร่เชื้อและต้องพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน การป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคตาแดง จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดและทำได้ไม่ยาก ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสของใช้ที่อาจโดนสารคัดหลั่ง รวมทั้งไม่ใช้ของใช้ร่วมกับผู้ป่วยเช่น เครื่องสำอาง แว่นตา รวมทั้งไม่ใช้ยาหยอดตาร่วมกันกับผู้อื่น
  2. ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำ สบู่ หรือแอลกอฮอล์ และไม่ควรใช้มือขยี้ตาหรือหลีกเลี่ยงมือมาสัมผัสดวงตา
  3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรืออยู่ในบริเวณน้ำท่วมขัง น้ำสกปรก หากจำเป็นก็ควรอาบน้ำทันที
  4. กรณีเป็นผู้ป่วยควรป้องกันการเผยแพร่ไปสู่ผู้อื่นด้วยการงดใช้ของสาธารณะ เช่น เดินในห้างสรรพสินค้า การใช้รถโดยสาร การใช้สระว่ายน้ำ หากเป็นเด็กเล็กก็ควรหยุดเรียนเพราะผู้ที่เป็นตาแดงมักมีโอกาสแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ถึง 15 วัน

โรคตาแดง ถึงแม้เป็นโรคที่สามารถหายได้เอง เมื่อเป็นแล้วควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม ไม่ควรซื้อยามาใช้เองเพื่อป้องกันจากภาวะแทรกซ้อน เช่น การเกิดแผลในดวงตา เป็นโรคตาชนิดอื่น ๆ หรือการติดเชื้อลุกลามจนการสูญเสียการมองเห็น ซึ่งอาจส่งผลเกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้

aufarm-logo

เราจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสมุนไพรในราคาย่อมเยา และมีคุณภาพจากโรงงานที่ทันสมัย  ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และตรวจสอบได้

Copyright © 2020 Aufarm / All rights reserved.

เมนูหลัก