โรคลิ้นหัวใจรั่ว รู้ทันรักษาได้

ลิ้นหัวใจรั่ว

โรคหัวใจ ถือเป็นภัยเงียบที่อันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากอาการของโรคหัวใจบางชนิดจะไม่แสดงอาการในระยะเริ่มแรก เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นจึงจะแสดงอาการ และจะแสดงอาการรุนแรงมากขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยกลางคนหรือประมาณอายุ 40-50 ปีขึ้นไป ลิ้นหัวใจรั่ว คือหนึ่งในโรคหัวใจที่นี้มีผลกระทบกับคุณภาพชีวิตในทุก ๆ ด้าน ลิ้นหัวใจรั่ว สาเหตุเกิดจากอะไร เป็นแล้วสามารถรักษาให้หายได้หรือไม่ เรามาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันจากบทความต่อไปนี้ครับ 

โรคลิ้นหัวใจรั่ว คืออะไร ?

ลิ้นหัวใจรั่ว (Heart Valve Regurgitation) เป็นโรคที่เกิดจากลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท  ทำให้เลือดที่หัวใจสูบฉีดไหลย้อนกลับ ส่งผลให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างทั่วถึง  ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้น โดยผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการเหนื่อยง่าย คุณภาพชีวิตลดลงและส่งผลระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ในผู้ป่วยบางรายที่อาการของโรคมีความรุนแรง อาจหัวใจล้มเหลวและทำให้เสียชีวิตได้

สาเหตุของโรคลิ้นหัวใจรั่ว

ปัจจัยหลักของการเกิดโรคลิ้นหัวใจรั่ว สามารถแบ่งออกเป็น 4 สาเหตุหลัก ๆ ดังนี้

  1. ความพิการแต่กำเนิด ในกรณีนี้ผู้ป่วยจะมีอาการมาตั้งแต่แรกคลอด เช่น ภาวะลิ้นหัวใจตีบ จนส่งผลให้หัวใจทำงานผิดปกติ
  2. เกิดจากโรคลิ้นหัวใจรูมาติก โรคนี้มาจากเชื้อโรคสเตรปโตคอคคัส ที่เข้าไปทำลายลิ้นหัวใจจนเสียหายและจะแสดงอาการ 5-10 ปีหลังจากการเป็นไข้รูมาติก ซึ่งเป็นสาแหตุของอาการลิ้นหัวใจรั่วที่พบมากที่สุด
  3. เกิดจากลิ้นหัวใจเสื่อมสภาพ เนื่องมาจากอายุที่มากขึ้นทำให้ร่างกายมีความเสื่อม ส่งผลทำให้อวัยวะต่าง ๆรวมทั้งลิ้นหัวใจเสื่อมสภาพตามมาด้วย
  4. เกิดจากลิ้นหัวใจติดเชื้อในกระแสเลือด อาการหัวใจขาดเลือดแบบเฉียบพลัน หรือการใช้ยาบางชนิดก็มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วได้เช่นกัน
  5. เกิดจากกรรมพันธุ์ หากพบว่ามีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว ก็มักส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้สูง

ไอเรื้อรัง

อาการของโรคลิ้นหัวใจรั่ว 

  1. มีอาการเหนื่อยง่าย ในระยะแรก ๆ อาจยังไม่รุนแรงมากนัก แต่มักแสดงอาการขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ออกกำลังกายหรือทำงานหนักที่ต้องใช้แรงมาก ๆ เนื่องจากเลือดเกิดการคั่งอยู่ในปอด
  2. ไอ มีเสมหะ เวียนศีรษะ เป็นลม มีปัญหาในการนอนหลับ เนื่องจากหายใจไม่สะดวก
  3. มักมีอาการเจ็บหน้าอก รวมทั้งหัวใจเต้นผิดปกติ 
  4. มีอาการบวมที่เท้าและขา ท้องมาน ซึ่งเกิดจากการบวมน้ำ ในบางรายอาจพบปัสสาวะบ่อยในเวลากลางคืน

การวินิจฉัยโรคลิ้นหัวใจรั่ว 

  1. แพทย์จะทำการตรวจด้วยเครื่องคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) เป็นการส่งคลื่นเสียงความถี่สูง สะท้อนภาพของหัวใจ ที่สามารถเห็นความผิดปกติและความรุนแรงของลิ้นหัวใจรั่วได้
  2. ทดสอบสมรรถภาพของหัวใจด้วยการให้ผู้ป่วยออกกำลังกายด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อทดสอบการทำงานของหัวใจว่าทำได้เต็มประสิทธิภาพหรือไม่
  3. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ด้วยการใช้เครื่องมือที่บริเวณหน้าอก ซึ่งเป็นการตรวจเพื่อบันทึกการทำงานของกระแสไฟฟ้าในหัวใจ เพื่อดูขนาดของหัวใจว่าโตผิดปกติหรือไม่
  4. ตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็ก เป็นการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กและวิทยุ วิธีนี้แพทย์จะเห็นภาพรายละเอียดของหัวใจ ว่าทำงานผิดปกติอย่างไร
  5. การเอกซเรย์ดูหลอดเลือดหัวใจ ด้วยวิธีการสอดท่อและฉีดสารทึบแสงผ่านทางข้อพับและขาหนีบ จากนั้นก็จะเอกซเรย์ วิธีนี้เป็นการดูการทำงานของหลอดเลือดหัวใจ
  6. เอกซเรย์ทรวงอก เพื่อดูว่ามีภาวะหัวใจโตหรือไม่ เพื่อหาความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นโรคหัวใจหรือโรคเกี่ยวกับปอด
การผ่าตัด

ภาพโดย Sasin Tipchai จาก Pixabay

การรักษาโรคลิ้นหัวใจ

  1. กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงมากนัก แพทย์จะใช้ยาในการรักษา เช่น ยาขับปัสสาวะเพื่อช่วยขับของเหลวออกมา ช่วยลดอาการเหนื่อยและอาการบวม หรือยาปรับสภาพของหัวใจ เพื่อช่วยไม่ให้หัวใจโต ช่วยควบคุมความดัน และยาต้านการแข็งตัวของเลือด เพื่อช่วยให้การทำงานของหัวใจทำได้ดีขึ้น
  2. ผู้ป่วยในรายที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจทำการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด ดังนี้
  • การผ่าตัดรักษาอาการลิ้นหัวใจรั่ว ด้วยการใช้ลิ้นหัวใจเทียมทดแทนลิ้นหัวใจเดิม เป็นลิ้นที่ทำจากโลหะหรือเยื่อหุ้มหัวใจหมู และต้องทานยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดอย่างต่อเนื่อง วิธีนี้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ 10-15 ปี แต่ไม่สามารถมีบุตรหรือตั้งครรภ์ได้
  • ผ่าตัดซ่อมแซมลิ้นหัวใจ เป็นการผ่าตัดเพื่อตกแต่งส่วนที่ผิดปกติหรือการลอกหินปูนที่จับออกและใช้เยื่อหุ้มหัวใจของผู้ป่วยเองมาซ่อมแซม วิธีนี้มีข้อดีคือร่างกายผู้ป่วยก็จะไม่เกิดปฏิกิริยาต่อต้าน อีกทั้งหัวใจจะแข็งแรงเทียบเท่าคนปกติ โดยไม่ต้องทานยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด และการประเมินผลการรักษาของแพทย์ยังสามารถประเมินได้อย่างแม่นยำ เกิดแผลผ่าตัดเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยไม่เจ็บตัวมาก ฟื้นตัวได้เร็ว

การดูแลตนเองของผู้ป่วยลิ้นหัวใจรั่ว

  1. เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารประเภทไขมันสูง อาหารรสจัด อาหารหวานจัด เพื่อลดการทำงานของหัวใจ
  2. ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างเหมาะสมและควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อให้หัวใจแข็งแรงขึ้น
  3. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมเพื่อป้องกันแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ความดันสูง ไขมันสูง
  4. ควบคุมความดันให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ เพื่อไม่ให้หัวใจทำงานหนักจนเกินไป
  5. ผู้ป่วยลิ้นหัวใจรั่ว ไม่ควรสูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันไม่ให้หัวใจทำงานหนักที่อาจทำให้อาการของโรคมีความรุนแรงมากขึ้น
  6. ทานยาและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การควบคุม การติดตามและการประเมินผลของโรคทำได้ดียิ่งขึ้น

หากเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วแล้วไม่ได้เข้ารับการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้เช่น หัวใจเต้นผิดปกติหรือเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ทำให้เกิดเป็นโรคหลอดเลือดในสมอง เกิดการติดเชื้อที่หัวใจ หรือทำให้เกิดความดันในปอด จนนำไปสู่ภาวะหัวใจวายจนเสียชีวิตได้ แต่ถ้าเข้ารับการรักษาทันทีไม่ทิ้งไว้นานจนเกินไป โรคนี้ก็ยังสามารถรักษาจนผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้เช่นเดิม

aufarm-logo

เราจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสมุนไพรในราคาย่อมเยา และมีคุณภาพจากโรงงานที่ทันสมัย  ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และตรวจสอบได้

Copyright © 2020 Aufarm / All rights reserved.

เมนูหลัก