รู้ทันต้อกระจก อาการ การรักษา และการดูแลสุขภาพดวงตา

ต้อกระจก

Photo by National Eye Institute on Foter.com / CC BY

ปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุก็คือ การเสื่อมถอยของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายที่เป็นไปตามอายุและช่วงวัยที่มากขึ้น ดวงตาก็เช่นเดียวกันผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีอาการตามัวมองภาพหรือสิ่งต่าง ๆ ไม่ชัดเจน ทำให้มีปัญหาในการอ่านตัวหนังสือ สัญญาณเตือนเหล่านี้เป็นอาการของต้อกระจกใช่หรือไม่ หากเป็นแล้ว การรักษาและการดูแลสุขภาพดวงตาควรทำอย่างไร ? aufarm.shop มีความรู้เรื่องต้อกระจกมาแนะนำค่ะ

โรคต้อกระจก คืออะไร

โดยปกติดวงตาของคนจะมีลักษณะโปร่งใส แสงสามารถผ่านเข้าไปได้ มีแก้วตาและกระจกตาทำหน้าที่ร่วมกันในการหักเหแสง ให้ตกอยู่ที่จอประสาทตาทำให้เกิดการมองเห็น โรคต้อกระจกก็คือ โรคที่แก้วตามีอาการเสื่อม โดยจะมีลักษณะจากใสกลายเป็นสีขาวขุ่น ทึบแสง จนแสงจากภายนอกไม่สามารถผ่านเข้าไปได้ ทำให้เกิดการรวมแสงที่จอเรติน่าหรือจอประสาทตาได้ไม่เต็มที่ ทำให้มีอาการสายตามัว ฝ้าฝาง จนส่งผลให้การมองเห็นไม่ชัดหรือมีอาการพร่ามัว

สาเหตุของต้อกระจก

ต้อกระจก นอกจากเป็นโรคที่มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงของอายุที่มากขึ้น เพราะส่วนใหญ่พบในคนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และต้อกระจกยังเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • เกิดจากความเสื่อมถอยของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย ประมาณ 80% พบในผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
  • เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ประมาณ 20 % เช่น
    – จากโรคประจำตัวของผู้ป่วยในวัยกลางคน เช่น โรคต่อมไทรอยด์ผิดปกติ โรคภูมิแพ้ที่ผิวหนัง โรคเบาหวาน และโรคความดัน
    – เกิดอุบัติเหตุที่ดวงตาอย่างรุนแรง เช่น โดนสะเก็ดไฟหรือเศษเหล็กกระเด็นเข้าที่ดวงตาขณะทำงาน เกิดการกระแทกชนจากอุปกรณ์ต่าง ๆ จากการเล่นกีฬา เกิดจากของมีคมทิ่มแทง เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ การเกิดอุบัติเหตุที่ดวงตาถึงแม้จะรักษาหายแล้ว ก็พบว่ายังสามารถเป็นต้อกระจกได้ในภายหลัง
    – มีความผิดปกติหลังการใช้ยารักษาโรคบางชนิด เช่น การกินยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ๆ
    – จากการเป็นโรคภูมิแพ้ โรคหืด หอบ และโรคข้อ
    – เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ ซึ่งพบว่าผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงนี้จะเป็นผู้ที่มีโอกาสเป็นต้อกระจกได้สูง
    – เกิดจาการถูกรังสีในผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งและผู้ที่ถูกแสงแดดเป็นเวลานาน ๆ
    – เกิดจากความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด เนื่องจากมีมารดาเป็นหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์
    – เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่นพันธุกรรม 

ไม่ชัด

อาการของต้อกระจก

  1. มักมีสายตาพร่ามัวเมื่ออยู่ในที่แสงจ้าหรือออกแดด โดยอาการสายตามัวนี้จะค่อย ๆ เป็นไปอย่างช้า ๆ ใช้เวลาเป็นปีโดยไม่มีอาการเจ็บปวด และจะกลับมามองเห็นได้ชัดขึ้นเมื่ออยู่ในที่มืด
  2. ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าตาค่อย ๆ มัวลงเรื่อย ๆ อย่างช้า ๆ โดยไม่มีอาการเจ็บปวดหรือตาแดงแต่อย่างใด
  3. มักมองเห็นวัตถุต่าง ๆเป็นภาพซ้อน โดยจะเป็นได้ทั้งการใช้สายตามองเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง
  4. มีอาการปวดตาหรือปวดศีรษะในรายที่เป็นมาก ๆ
  5. เป็นฝ้าขาวที่บริเวณรูม่านตา ซึ่งจะเกิดอาการนี้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยเป็นต้อกระจกขั้นรุนแรงหรือเป็นมากแล้ว

ภาวะแทรกซ้อนของต้อกระจก

ภาวะแทรกซ้อนของต้อกระจก โดยทั่วไปจะไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากอาการของโรค แต่จะมีเพียงภาวะแทรกซ้อนที่เกิดหลังการผ่าตัด ดังนี้

  1. เกิดภาวะถุงเลนส์ตาขุ่นหลังการผ่าตัด ทำให้การมองเห็นพร่ามัว แต่อาการก็จะดีขึ้นภายใน 2-3 วัน
  2. มีอาการบวมแดง เจ็บ มองไม่เห็นหลังการผ่าตัด กรณีนี้ควรไปพบจักษุแพทย์ทันที
  3. แพทย์ไม่สามารถเอาต้อกระจกออกมาได้หมด ซึ่งก็สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาหรือการผ่าตัดเพิ่มเติม

ขั้นตอนการรักษาต้อกระจก

การรักษาโรคต้อกระจกที่ได้ผลดี คือการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดสลายต้อกระจก ซึ่งมีขั้นตอนการรักาษา ดังนี้

  • การใช้คลื่นอัลตราซาวด์ผ่านท่อขนาดเล็กสอดเข้าไปในดวงตา โดยการเปิดแผล 2-3 มิลลิเมตร คลื่นอัลตราซาวด์จะทำให้ฝ้าขุ่นมัวเกาะอยู่ที่ดวงตาแตกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ จากนั้นก็จะดูดชิ้นส่วนที่แตกออกมา
  • รักษาด้วยวิธี Intraocular lens หรือ IOLเป็นการผ่าตัดโดยใช้ยาชาเพื่อไม่ให้รู้สึกเจ็บ และไม่ให้มีการเคลื่อนไหวดวงตา จากนั้นก็จะนำเลนส์แก้วตาเทียมใส่เข้าไป

วิธีดูแลสุขภาพดวงตา ให้ห่างไกลจากโรคต้อกระจก

การดูแลสุขภาพดวงตาเพื่อลดความเสี่ยงจากการเป็นต้อกระจก ควรปฏิบัติตน ดังนี้

  • ควรตรวจวัดสายตาอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป รวมทั้งผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันสูง
  • เมื่อพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับดวงตา หรือมีปัญหาสายตาควรพบจักษุแพทย์ทันที
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่
  • สวมแว่น เพื่อป้องกันอันตรายทุกครั้งเมื่อต้องทำงานที่อาจเกิดอันตรายกับดวงตา เช่น สวมแว่นกันแดดเมื่อต้องออกไปเจอแดด หรือเมื่อทำงานเกี่ยวข้องกับสารเคมี ควรสวมแว่นป้องกันสารเคมี
  • รับประทานอาหาร ที่มีสารอาหารช่วยบำรุงสายตา เช่น อาหารที่มีโปรตีนสูง ผักและผลไม้ที่มีวิตามินเอและสารต้านอนุมูลอิสระ ทานผักใบเขียว ผักบุ้ง แครอท มะละกอ และกล้วย
  • พักสายตาเป็นระยะโดยเฉพาะผู้ที่ต้องใช้สายตานาน ๆ

โรคต้อกระจก แม้สาเหตุหลักจะเกิดจากความเสื่อมถอยของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เมื่อมีอายุที่มากขึ้น แต่หากรู้ทันอาการของโรค ปรับและลดพฤติกรรมเสี่ยง หากมีอาการผิดปกติหรือมีสัญญาณเตือนที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับสายตา ควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหรือขอคำแนะนำในการป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคต้อกระจก

aufarm-logo

เราจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสมุนไพรในราคาย่อมเยา และมีคุณภาพจากโรงงานที่ทันสมัย  ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และตรวจสอบได้

Copyright © 2020 Aufarm / All rights reserved.

เมนูหลัก