คุณหมอช่วยด้วย !! เวียนศีรษะบ้านหมุน โรคนี้อันตรายหรือไม่ ?

บ้านหวุน เวียนหัว เวียนศีรษะ
อาการเวียนศีรษะดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติธรรมดา ที่ทุกคนอาจเคยประสบกันมาบ้างแล้ว ลักษณะอาการของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน ทั้งอาการเวียนศีรษะ มึนงง คลื่นไส้  มีอาการโคลง ๆ รู้สึกคล้ายบ้านหมุน และทรงตัวไม่ได้  อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนเกิดจากอะไร และเป็นโรคที่อันตรายร้ายแรงหรือไม่ วันนี้ aufarm.shop มีคำตอบมาให้ค่ะ

เวียนศีรษะบ้านหมุน โรคนี้อันตรายหรือไม่ ?

เวียนศีรษะบ้านหมุน เป็นอาการที่พบได้บ่อย ในคนวัยทำงานและผู้สูงอายุ อาการเวียนศีรษะ มึนงงหรือมึนศีรษะ จะมีลักษณะอาการคล้าย ๆ กัน ส่วนอาการบ้านหมุนคือโรคเดียวกันหรือไม่และเกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่ ก่อนหาคำตอบเราต้องทำความเข้าใจกับอาการเวียนศีรษะและมึนศีรษะกันก่อน เพื่อทำให้เข้าใจอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนได้ง่ายขึ้น

อาการบ้านหมุน คืออะไร ?

อาการบ้านหมุน คือลักษณะอาการเวียนศีรษะที่มีมากกว่าธรรมดา เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่จะรู้สึกเหมือนบ้านหรือสิ่งของรอบ ๆ ตัวที่มองเห็นหมุนได้ และมีอาการโคลงเคลงเสียการทรงตัวเหมือนจะล้มไปด้านใดด้านหนึ่ง อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันเป็นช่วง ๆ อาการมักเป็นมากขึ้นเมื่อมีการขยับศีรษะ

สาเหตุ และอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน

อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน ผลกระทบที่เกิดจากอาการเหล่านี้ก็คือ เมื่อมีอาการบ้านหมุนเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันจะไม่สามารถควบคุมการทรงตัวได้ซึ่งเสี่ยงต่อการล้มหรือเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ส่วนสาเหตุของโรค โดยทั่วไปการทรงตัวของมนุษย์จะเกิดจากการทำงานประสานกันของอวัยวะ 3 ส่วน คือสายตา ระบบประสาทรับความรู้สึก และประสาทหูชั้นใน อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนจึงเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

1. โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน

เกิดจากความเสื่อมของหูชั้นใน ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นทันทีทันใด ในขณะกำลังล้มตัวลงนอนหรือลุกจากที่นอน เงยหน้า ก้มหยิบสิ่งของมักจะเป็นระยะสั้น ๆ เป็นแค่ช่วงวินาทีที่ขยับศีรษะ แล้วอาการจะค่อย ๆ หายไป อาการบ้านหมุนจากโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนมักมีอาการเป็นซ้ำเกือบทุกวัน ทำให้รู้สึกวิตกกังวลหรือเป็นปัญหาต่อการใช้ชีวิต แต่อาการของโรคนี้ จะไม่มีอาการหูอื้อ สูญเสียการได้ยิน หรือได้ยินเสียงผิดปกติในหู

2. โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือน้ำในหูชั้นในผิดปกติ

เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ผู้ป่วยจะมีอาการบ้านหมุนอย่างรุนแรง บางรายอาจคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย อันตรายของโรคนี้ทำให้สูญเสียการทรงตัว เดินแล้วเซหรือล้มได้ง่าย  โรคน้ำในหูไม่เท่ากันเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะมีอาการเป็นเวลานานทำให้อยู่นิ่ง ๆ ไม่สามารถขยับร่างกายเพราะอาจทำให้เกิดอาการเวียนหัวเพิ่มขึ้นได้

3. โรคเวียนศีรษะจากไมเกรน

แม้ลักษณะอาการส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดศีรษะตุบ ๆ ข้างเดียวตามจังหวะการเต้นของหัวใจ แต่บางครั้งอาจมีเพียงอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนแทน ซึ่งอาการเวียนศีรษะจากไมเกรนจะเป็น ๆ หาย ๆ สลับกันไป และเมื่อมีอาการเกิดขึ้นมักมีอาการหูอื้อเห็นแสงวูบวาบร่วมด้วย บางครั้งผู้อาจอาจเข้าใจผิดว่าเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

4. โรคที่เกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โรคโลหิตจาง หรือโรคความดันโลหิตสูง อาการของโรคเหล่านี้ทำให้มีอาการหน้ามืดเวียนศีรษะบ้านหมุนได้

5. โรคที่เกิดจากความเครียด หรือโรคทางจิตเวช

อาการของโรคเหล่านี้เมื่อผู้ป่วยเกิดความเครียดเพิ่มมากขึ้น หรืออยู่ในที่แคบ ที่โล่ง ที่สูง หรือที่ชุมชน อาจมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน แต่จะหายไปเมื่อไม่อยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว 

การตรวจวินิจฉัยของแพทย์

ในการตรวจวินิจฉัยก่อนทำการรักษา แพทย์จะทำการวินิจฉัยแยกโรคเพื่อรักษาตามสาเหตุของโรค ซึ่งมีอยู่ 2 วิธี ดังนี้

1. ตรวจวินิจฉัยจากประวัติการเวียนศีรษะ

แพทย์จะทำการซักประวัติที่อาจเป็นสาเหตุของโรค เช่น เคยมีประวัติเป็นโรคหูหรือไม่ เคยได้รับการกระทบกระเทือนทางสมอง  ทานยารักษาโรค หรือมีประวัติการเป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ รวมทั้งลักษณะการเวียนศีรษะบ้านหมุน อาการมึนงง หรืออาการเดินเซ

2. การตรวจร่างกาย

แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย โดยตรวจหู คอ และจมูกร่วมด้วย เพื่อตรวจหาความผิดปกติของร่างกายส่วนอื่น ๆ เพื่อวินิจฉัยแยกโรคซึ่งอาจเป็นต้นเหตุของอาการเวียนศีรษะ ได้แก่
  • การตรวจการได้ยินแบบพิเศษ
  • ตรวจลักษณะการเดินและการทรงตัว
  • ตรวจประสาททรงตัวของหูชั้นในโดยการทำ Caloric test
  • การตรวจการทำงานของก้านสมอง
  • ตรวจความผิดปกติของตาด้วย VNG

การรักษาโรคเวียนศีรษะบ้านหมุน

การรักษาและวิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคเวียนศีรษะบ้านหมุน เมื่อแพทย์วินิจฉัยแล้วจะทำการรักษาพร้อมคำแนะนำในการดูแลตัวเองตามแนวทางต่อไปนี้

1. การรักษาตามอาการของโรค 

  • ให้ทานยากดการรับรู้ของประสาททรงตัว เพื่อให้หายจากอาการเวียนศีรษะบ้านหมูน
  • ให้ยาสงบหรือยาระงับประสาท
  • ให้ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน
  • ให้ยาขยายหลอดเลือด เพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงระบบประสาทรงตัว โดยการรักษาด้วยวิธีนี้เป็นการรักษาที่ปลายเหตุ

2. การรักษาตามสาเหตุของโรค  

ซึ่งการรักษาในข้อนี้แพทย์จะต้องทำการวินิจฉัย เพื่อให้รู้สาเหตุที่แท้จริงของโรคเสียก่อน เนื่องจากแต่ละสาเหตุความรุนแรงของโรคจะแตกต่างกัน เช่น โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน โรคเวียนศีรษะจากไมเกรน โรคที่เกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต  โรคที่เกิดจากความเครียด

วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคเวียนศีรษะบ้านหมุน

อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน เป็นโรคที่มักเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องขณะเวียนศีรษะ มีดังนี้
  • เมื่อมีอาการเวียนศีรษะขณะเดิน ให้หยุดยืนนิ่ง ๆ และนั่งพัก เพื่อป้องกันการล้มหรือเกิดอุบัติเหตุอื่น ๆ
  • พยายามหลีกเลี่ยงการทำท่าทางที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน เช่น การหมุนตัว การเปลี่ยนอิริยาบถอย่างรวดเร็ว
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อประสาททรงตัว
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ทานยาตามแพทย์สั่ง และพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
อาการบ้านหมุน หรือเวียนศีรษะบ้านหมุน เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะในคนวัยทำงานและผู้สูงอายุ เมื่อทราบสาเหตุของโรคหรือมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคนี้ ควรบำรุงดูแลตัวเองโดยหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ปัญหาสุขภาพการป้องกันย่อมดีกว่าการดูแลรักษา ทราบแล้วอย่าลืมดูแลตัวเองนะคะ
aufarm-logo

เราจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสมุนไพรในราคาย่อมเยา และมีคุณภาพจากโรงงานที่ทันสมัย  ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และตรวจสอบได้

Copyright © 2020 Aufarm / All rights reserved.

เมนูหลัก