โรคสะเก็ดเงิน ติดต่อกันหรือไม่ รักษาอย่างไรให้หายขาด

โรคสะเก็ดเงิน

สะเก็ดเงิน เป็นภาวะของโรคผิวหนังชนิดเรื้อรัง ที่เกิดจากความแปรปรวนหรือความผิดปกติของภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย และนอกจากเป็นปัญหาต่อสุขภาพแล้ว โรคสะเก็ดเงินยังส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วย ทำให้ขาดความมั่นใจในการพบปะผู้คน ขาดความเชื่อมั่นในตนเองทั้งชีวิตการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัว เพื่อคลายความสงสัยโรคนี้เป็นแล้วติดต่อหรือไม่ หรือรักษาอย่างไรให้หายขาด aufarm.shop มีคำตอบค่ะ

โรคสะเก็ดเงิน และสาเหตุของโรค

โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคที่เซลล์ผิวหนังเกิดการแบ่งตัวแบบผิดปกติอย่างรวดเร็ว ซึ่งมาจากการกระตุ้นของสารเคมีลิมโฟไซต์ ที่อยู่ในเม็ดเลือดขาว ทำให้เกิดการอักเสบเป็นผื่นขนาดใหญ่ไปทั่วผิวหนัง โดยบริเวณผิวที่เป็นอักเสบนี้จะมีสีเงินและสีแดง โดยสาเหตุของโรคยังไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัด แต่ก็คาดว่าเกิดจาก

  1. ภาวะแพ้ภูมิตัวเอง เนื่องจากเซลเม็ดเลือดขาวเกิดความผิดปกติ ได้เข้าไปทำลายเซลล์ผิวหนังเพื่อป้องกันสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาสู่ร่างกาย
  2. เกิดมาจากกรรมพันธุ์ ซึ่งหากพบว่ามีญาติพี่น้องคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ ก็อาจมีโอกาสเป็นโรคสะเก็ดเงินได้สูงเช่นกัน
  3. เกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ที่กระตุ้นทำให้เกิดโรค เช่น การติดเชื้อเอชไอวี การบาดเจ็บบริเวณผิวหนัง ภาวะความเครียด การใช้ยาบางชนิดเช่นยาโรคหัวใจ ยาโรคความดันสูง การดื่มแอลกอฮอล์

อาการของโรคสะเก็ดเงินที่พบได้บ่อย

โรคสะเก็ดเงิน อาการมักแตกต่างกันไปตามชนิดของผื่นที่ผิวหนัง แต่อาการโดยส่วนใหญ่จะคล้ายกัน เมื่อเป็นผื่นที่ผิวหนังจะมีอาการอยู่หลายสัปดาห์ จากนั้นอาการจะเริ่มดีขึ้นตามลำดับ นอกจากจะมีปัจจัยภายนอกมากระตุ้น จึงจะทำให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบขึ้นอีกครั้ง และอาการที่พบได้บ่อย คือ ผิวหนังแดงนูน ตกสะเก็ด มีขุยสีขาว เจ็บ คัน แสบร้อน เล็บหนามีรอยบุ๋มผิดรูปทรง บางรายปวดตามข้อต่อต่าง ๆ หรืออาจมีอาการบวมร่วมด้วย

สะเก็ดเงิน

Photo by mysiana on Foter.com / CC BY-SA

ลักษณะผื่นของโรคสะเก็ดเงิน

  1. ชนิดผื่นขึ้นหนาเป็นปื้น (Plaque Psoriasis/Psoriasis Vulgaris) เป็นชนิดที่พบมากที่สุด มีลักษณะเป็นผื่นหนาคลุมด้วยสีเงิน มักเกิดที่หนังศีรษะ หัวข้อศอกและเข่า
  2. ชนิดเป็นผื่นเล็ก (Guttate Psoriasis) มีลักษณะเป็นผื่นหนาจุดขนาดเล็ก ๆ สีชมพูหรือสีแดง มักเกิดขึ้นกับเด็กหรือวัยรุ่น พบมากที่ขา แขนและลำตัว
  3. ชนิดเป็นตุ่มหนอง (Pustular Psoriassis) มีลักษณะผิวหนังเป็นตุ่มหนองกระจาย อักเสบแดง พบตามแขน ขาหรือลำตัว บางรายพบมีไข้ คัน เบื่ออาหาร
  4. ชนิดเกิดตามข้อพับ (Inverse Psoriasis/Intertriginous Psoriasis) มีลักษณะเป็นผื่นแดง เงา เรียบ เกิดตามข้อพับต่าง ๆ ในร่างกายเช่น ขาหนีบ รักแร้ รอบอวัยวะเพศ
  5. ชนิดผื่นลอกทั่วตัว (Erythrodermic Psoriasis) เป็นชนิดที่รุนแรงแต่ก็พบได้น้อยที่สุด มีลักษณะเป็นผื่นแดงขนาดใหญ่ลอกแบบรุนแรง มักมีอาการเจ็บและคันร่วมด้วย

การวินิจฉัยโรคและการรักษาโรคสะเก็ดเงิน

สำหรับการวินิจฉัยและการรักษาโรคสะเก็ดเงิน แพทย์จะสอบถามอาการ ประวัติการเจ็บป่วยของผู้ป่วยและบุคคลในครอบครัวของผู้ป่วย รวมไปถึงการตรวจร่างกายและบริเวณผิวหนังที่เกิดความผิดปกติเพื่อวินิจฉัยโรคเบื้องต้น กรณีอาการของผู้ป่วยไม่ชัดเจน แพทย์อาจมีการเก็บตัวอย่างจากผิวหนังไปตรวจวิเคราะห์ด้วยกล้องจุลทรรศน์ในห้องปฏิบัติการ จะทำให้รู้ถึงสาเหตุการเกิดของโรคที่ชัดเจนมากขึ้น ส่วนการรักษา รักษาอย่างต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไปตามความรุนแรงของโรค เนื่องจากโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่หายขาด และมีขั้นตอนการรักษา 2 แนวทาง ดังนี้

  1. การรักษาด้วยยาทา ซึ่งมีหลายชนิด ได้แก่ ยาทาคอติโคสเตียรอยด์ เป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาสูง แพทย์ทั่วไปนิยมใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินมากที่สุด หรือยาทากลุ่ม calcineurin inhibitor อาจนำมาใช้ในการรักษาผื่นสะเก็ดเงินบริเวณหน้าหรือตามซอกพับ เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากยาทาคอติโคสเตียรอยด์ รักษาด้วยการทานยา นิยมรักษาในรายที่มีอาการรุนแรงปานกลางถึงมาก และควรรับประทานภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
  2. รักษาด้วยการฉายแสงอาทิตย์เทียม ข้อดีของการรักษาด้วยวิธีนี้ คือผู้ป่วยจะกลับมาเป็นซ้ำน้อยกว่าการรักษาโดยใช้ยาทาหรือยารับประทาน

ภาวะแทรกซ้อนของโรคสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด การรักษายังรักษาไม่หายขาด ทำได้ก็เพียงรักษาไปตามอาการเท่านั้น และผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงินแบบชนิดรุนแรง เช่น โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคหัวใจและหลอดเลือด

ผลกระทบต่อผู้ป่วยในด้านต่าง ๆ

ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน มักประสบปัญหาต่าง ๆ จนบางรายไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เนื่องจากมีผลกระทบในด้านต่าง ๆ ดังนี้

  • ผลกระทบทางด้านร่างกาย ผู้ป่วยโรคนี้เมื่อเกิดเป็นผื่นสะเก็ดกระจายเต็มตัว หรือเป็นตุ่มหนองกระจาย บางรายพบว่าเป็นที่ผื่นที่ฝ่ามือฝ่าเท้า ทำให้ทำงานไม่ได้จนเกิดปัญหาในด้านอื่นตามมา
  • ผลกระทบทางด้านสังคม หากคนในสังคมแสดงอาการรังเกียจ ย่อมทำให้ผู้ป่วยมีภาวะเครียด และเป็นทุกข์ ไม่สามารถเข้าสังคมร่วมกับคนหมู่มากได้ บางรายต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน
  • ผลกระทบทางด้านครอบครัว หากคนในครอบครัวแสดงอาการรังเกียจย่อมทำให้ผู้ป่วยเกิดผลกระทบทางจิตใจ อาจทำให้โรคกำเริบและยากต่อการควบคุมหรือรักษา
  • ผลกระทบทางด้านจิตใจ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคสะเก็ดเงิน มักมีความผิดปกติทางอารมณ์ เช่น อับอาย เป็นซึมเศร้า ขาดความมั่นใจ

โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด แต่สามารถควบคุมอาการของโรคได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้น เลือกทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างครบถ้วน และหากพบอาการผิดปกติที่ผิวหนัง ควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป

aufarm-logo

เราจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสมุนไพรในราคาย่อมเยา และมีคุณภาพจากโรงงานที่ทันสมัย  ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และตรวจสอบได้

Copyright © 2020 Aufarm / All rights reserved.

เมนูหลัก