โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน อันตรายเมื่อเป็นโดยไม่รู้ตัว

อาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน และเสียการทรงตัว อาจเป็นปัญหาสุขภาพที่มีลักษณะอาการคล้ายกันในหลาย ๆ โรค รวมทั้งการพักผ่อนน้อยหรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดัน ก็ทำให้เกิดอาการเหล่านี้ได้ ผู้ป่วยน้ำในหูไม่เท่ากันส่วนใหญ่ จึงไม่รู้ตัวเองว่าเป็นโรคนี้ อันตรายของน้ำในหูไม่เท่ากัน ผู้ป่วยมักมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมูนที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว นอกจากอันตรายของโรคแล้วยังเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายทำให้มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

น้ำในหูไม่เท่ากัน คืออะไร ?

น้ำในหูไม่เท่ากัน หรือ โรคมีเนีย (Meniere’s disease)  เป็นอาการผิดปกติของหูชั้นในที่มีน้ำมากผิดปกติ ส่งผลทำให้ผู้ป่วย มีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน เสียการทรงตัว มีอาการหูอื้อ หากอาการรุนแรงอาจอาเจียนและเหงื่อออกร่วมด้วย อันตรายของโรคนี้ผู้ป่วยมักมีอาการบ้านหมุนเกิดขึ้นแบบทันทีทันใด อยู่เฉยๆก็เป็นขึ้นมา เมื่อเป็นแล้วต้องนอนหรือนั่งนิ่ง ๆ เพราะการขยับร่างกายและเสียการทรงตัวอาจทำให้ผู้ป่วยทรงตัวไม่อยู่หรือเซล้มลงได้

สาเหตุและอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน

อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนมากกว่าร้อยละ 50 ไม่สามารถหาสาเหตุที่ชัดเจนได้ อาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ก็เป็นหนึ่งในหลาย ๆ โรคที่มีอาการเวียนศีรษะบ้านหมูนและปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบว่าอาการของโรคเป็นผลมาจากความผิดปกติของน้ำที่อยู่ภายในหูชั้นใน ลักษณะอาการที่สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นน้ำในหูไม่เท่ากัน ได้แก่

  1. อาการบ้านหมุน หรือเวียนศีรษะอย่างรุนแรง มีความรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุน ทำให้ต้องนั่งหรือนอนนิ่ง ๆ หากลุกขึ้นก็จะทรงตัวไม่อยู่ และเมื่อเปลี่ยนท่าทางปรับเปลี่ยนอิริยาบถก็จะทำให้อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนรุนแรงมากขึ้น แต่ละครั้งมักเป็นอยู่นานเกิน 20 นาทีขึ้นไปถึง 2 ชั่วโมง แล้วหายไปได้เอง หากอาการรุนแรงผู้ป่วยมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
  2. มีอาการหูอื้อ ประสาทหูเสื่อม อาการจะเป็น ๆ หาย ๆ ระยะแรกมักมีอาการชั่วคราว เมื่ออาการเวียนศีรษะทุเลาอาการหูอื้อก็หายไปด้วย หากเป็นแบบเรื้อรังอาจทำให้การได้ยินเสื่อมลงถาวรได้
  3. ได้ยินเสียงดังในหู ทำให้รบกวนคุณภาพชีวิต นอนไม่หลับ และกลายเป็นคนหงุดหงิดง่าย หากเป็นบ่อย ๆ อาจพบว่าเสียงรบกวนในหูจะดังมากขึ้น
  4. การได้ยินลดลง ส่วนมากจะเกิดขึ้นชั่วคราว โดยการได้ยินจะลดลงเมื่อเกิดอาการเวียนศีรษะ หากร่างกายกลับสู่ภาวะปกติ การได้ยินจะดีขึ้น ในทางตรงกันข้ามหากปล่อยให้โรครุนแรงมากขึ้น การได้ยินอาจเสื่อมลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งหูตึงหรือหูหนวกได้ในที่สุด

การวินิจฉัยโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

การตรวจวินิจฉัยโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน แพทย์จะทำการวินิจฉัยไปตามขั้นตอนเช่นเดียวกับโรคอื่น ๆ เช่น

  1. ซักประวัติอาการ เช่น ลักษณะอาการเวียนศีรษะ ความรุนแรงของอาการ ระยะเวลาและความถี่ของอาการ
  2. ซักประวัติสุขภาพ เช่น ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต ประวัติโรคซิฟิลิส โรคคางทูม โรคการอักเสบของตา โรคภูมิคุ้มกัน โรคภูมิแพ้ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไทรอยด์ โรคทางระบบประสาท รวมทั้งประวัติการรักษา เช่น เคยผ่าตัดหูมาก่อนหรือไม่
  3. การตรวจร่างกายทั่วไป เช่น การตรวจหู คอ จมูก และระบบประสาท การตรวจระบบสมดุลของร่างกาย การตรวจดูการเคลื่อนไหวของลูกตาในท่าทางต่าง ๆ
  4. การตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจการได้ยิน ตรวจการทำงานของอวัยวะทรงตัวของหูชั้นใน 
  5. การตรวจพิเศษทางรังสี เช่น ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan) หรือตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า  (MRI)
ปวดหัว

ภาพโดย Anastasia Gepp จาก Pixabay

แนวทางการรักษาน้ำในหูไม่เท่ากัน

  1. รักษาด้วยยาตามอาการ ผู้ป่วยร้อยละ 80 จะหายจากอาการน้ำในหูไม่เท่ากันด้วยวิธีนี้ เช่น ยาขยายหลอดเลือดเพื่อลดการบวมและการคั่งของน้ำในหูชั้นใน ยาลดอาการเวียนศีรษะและคลื่นไส้ อาเจียน โดยให้รับประทานในขณะที่มีอาการ ส่วนยาอื่น ๆ เช่น ยาขับปัสสาวะ ยากล่อมประสาท ยานอนหลับก็ช่วยทำให้อาการดีขึ้นอย่างมาก
  2. การฉีดยา Gentamicin เข้าหูชั้นกลาง เพื่อให้ซึมเข้าหูชั้นใน เป็นการควบคุมอาการ เวียนศีรษะ การรักษาด้วยวิธีนี้ใช้ในกรณีที่กินยาไม่ได้ และยังเวียน ศีรษะอยู่
  3. รักษาด้วยการผ่าตัด ใช้ในกรณีคนไข้มีอาการมาก และรักษาวิธีการใช้ยาข้างต้นไม่ได้ผล

วิธีดูแลตนเองและการปฏิบัติตัวเมื่อมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน มีโอกาสจะเกิดอาการได้หลาย ๆ และมักเกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนขึ้นได้โดยไม่มีอาการบ่งบอกมาก่อน วิธีดูแลตนเองและการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเมื่อเวียนศีรษะบ้านหมุน มีดังนี้

  1. ขณะมีอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ควรหลีกเลี่ยงการขับรถ หรือการยืนที่สูง 
  2. หลีกเลี่ยงการอดนอน เพราะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้มีอาการเวียนศีรษะ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ
  3. เมื่อมีอาการเวียนศีรษะขณะเดิน ควรหยุดเดินและนั่งพัก เพราะการยืนหรือเดินขณะเวียนศีรษะ อาจทำให้เสียการทรงตัวล้มหรือเกิดอุบัติเหตุได้
  4. หากพบแพทย์แล้วได้รับยาแก้อาการเวียนศีรษะ ให้รับประทานยา
  5. ออกกำลังกายด้วยการบริหารประสาทการทรงตัว จะทำให้สมองปรับตัวเร็วขึ้น

น้ำในหูไม่เท่ากัน แม้จะเป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ไม่มีวิธีรักษาที่ทำให้โรคหายขาด และอาการบ้านหมุนมักเกิดขึ้นแบบทันทีทันใด แต่ส่วนใหญ่โรคน้ำในหูไม่เท่ากันสามารถควบคุมได้ด้วยการรับประทานยา และการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง

aufarm-logo

เราจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสมุนไพรในราคาย่อมเยา และมีคุณภาพจากโรงงานที่ทันสมัย  ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และตรวจสอบได้

Copyright © 2020 Aufarm / All rights reserved.

เมนูหลัก