โรคความดันต่ำ ภัยร้ายที่ไม่ควรมองข้าม

ความดันต่ำ

เชื่อว่าคนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับคำว่า “ความดันโลหิตสูง” เพราะเป็นอาการของโรคอันตรายและยังเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้กับทุกโรค จนอาจทำให้มองข้ามหรือไม่ได้ให้ความสำคัญกับโรคความดันต่ำมากนัก ในความเป็นจริงความดันต่ำ เป็นโรคเรื้อรังเช่นเดียวกับความดันสูงและไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่สามารถควบคุมได้ หากรู้สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงแล้วปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต รวมทั้งดูแลตนเองอย่างถูกต้อง ความดันต่ำเกิดจากอะไร เมื่อเป็นแล้วควรดูแลตนเองอย่างไร บทความนี้มีคำตอบ

โรคความดันต่ำ  คืออะไร ?

ความดันต่ำ  คือ ภาวะที่ความดันของกระแสเลือดในหลอดเลือดแดงต่ำกว่าปกติ หรือมีค่าความดันโลหิตต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท พบได้ทั้งชายและหญิงทุกช่วงอายุ มักพบมากในผู้หญิงที่ร่างกายอ่อนแอหรือผู้สูงอายุที่มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นมาก่อน

สาเหตุของโรคความดันต่ำ

ภาวะความดันต่ำ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เป็นผลกระทบมาจากปัญหาสุขภาพ ส่วนสาเหตุของความดันต่ำที่พบได้บ่อยอาจมาจากปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้

  • เป็นผลมาจากพันธุกรรม พบว่าผู้ป่วยความดันโลหิตต่ำ ส่วนหนึ่งมีพ่อแม่ป่วยด้วยภาวะความดันโลหิตต่ำมาก่อน ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ว่าภาวะความดันโลหิตต่ำมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
  • อายุที่มากขึ้น โดยพบว่าผู้ป่วยภาวะความดันต่ำมีแนวโน้มสูงขึ้นตามอายุที่มากขึ้น
  • ผู้ป่วยมีภาวะเลือดจาง ส่งผลให้ความเข้มข้นของเลือดลดลงจากปริมาณเม็ดเลือดแดงลดลง จนนำไปสู่ความดันในหลอดเลือดต่ำ
  • ผู้ป่วยมีภาวะขาดน้ำ ทำให้เลือดไหลเวียนและกลับเข้าสู่หัวใจได้น้อย ส่งผลให้หัวใจเต้นบีบตัวน้อยลง จนเกิดภาวะความดันในเลือดต่ำ
  • การตั้งครรภ์ เนื่องจากร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องเพิ่มเลือดเพื่อหล่อเลี้ยงทารกในครรภ์ ทำให้การไหลเวียนหรือปริมาณชองเลือดในร่างกายของแม่ลดลง ส่งผลให้เกิดความดันต่ำได้ ซึ่งมักเกิดในระยะ 6 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
  • ผลข้างเคียงจากการรับประทานยาบางชนิด  เช่น  ยาขับปัสสาวะ ยาเบต้า บล็อกเกอร์ที่รักษาโรคหัวใจ ยารักษาโรคพาร์กินสัน ยากลุ่มไตรไซคลิก ยารักษาผู้ที่มีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ยาลดความดันในเลือดสูง ยาทางจิตเวชบางชนิด
  • เกิดจากภาวะติดเชื้อรุนแรงในกระแสเลือด ส่งผลให้เกิดหลอดเลือดขยายตัวมากขึ้นพร้อม ๆ กัน รวมทั้งเกิดการล้มเหลวในการทำงานของหัวใจและปอด จึงส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ
  • ปัญหาเกี่ยวกับโรคต่อมไร้ท่อ เช่น ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ภาวะต่อมหมวกไตทำงานบกพร่อง จึงส่งผลถึงการไหลเวียนของเลือด
  • จากการแพ้ยา หรือแพ้อาหาร หรือแพ้สารต่าง ๆอย่างรุนแรง ส่งผลให้หลอดเลือดทั่วตัวขยายตัวทันที จึงเกิดการขาดเลือดไหลเวียนในกระแสโลหิต ส่งผลให้ความดันต่ำลง

 ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตต่ำ

  1. ผู้สูงอายุ 
  2. ผู้ที่ดื่มน้ำน้อย และไม่ออกกำลังกายหรือไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย
  3. ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคของต่อมไทรอยด์และภาวะเลือดจาง
  4. ผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยายาบางชนิดเป็นประจำ โดยเฉพาะ ยาขับปัสสาวะ ยาโรคความดันโลหิตสูง และยาโรคเบาหวาน
  5. ร่างกายมีภาวะขาดน้ำ จากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ท้องเสีย หรือ อาเจียน รุนแรง หรือภาวะลมแดด
ปวดหัว

ภาพโดย Anastasia Gepp จาก Pixabay

อาการของภาวะความดันโลหิตต่ำ

  1. ชีพจรเบา เต้นเร็ว
  2. หายใจเร็ว เหนื่อย
  3. ตาลาย วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ทรงตัวไม่อยู่
  4. อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  5. กระหายน้ำ  ปัสสาวะน้อย
  6. อาจมีผื่นแดงขึ้นตามตัว หน้า ตัวบวม เมื่อเกิดจากการแพ้สิ่งต่าง ๆ
  7. อาจมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เมื่อเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ
  8. อาการมึนงง สับสน
  9. เป็นลม หมดสติ เมื่อความดันโลหิตต่ำมาก

การวินิจฉัยและแนวทางการรักษา

แพทย์วินิจฉัยโรคความดันต่ำได้จาก การวัดความดันโลหิต สอบถามประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบัน ประวัติกินยาต่าง ๆ กินอาหาร การแพ้อาหาร หรือถูกสัตว์/แมลงต่อย การตรวจร่างกาย และการตรวจเพิ่มเติมต่าง ๆ ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ ส่วนแนวทางการรักษามี ดังนี้

  1. การเพิ่มความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตามสาเหตุ เช่น ให้น้ำและเกลือแร่ทางหลอดเลือดดำเมื่อเกิดจากภาวะขาดน้ำ
  2. การให้เลือด กรณีเมื่อเสียเลือดมาก
  3. การให้ยาเพิ่มความดันโลหิต หรือยาเพิ่มการบีบตัวของหลอดเลือดเมื่อเกิดจากหลอดเลือดขยายตัวผิดปกติ
  4. การรักษาตามสาเหตุ เช่น รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจเมื่อเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ การปรับยาเบาหวานเมื่ออาการเกิดจากโรคเบาหวาน

การดูแลตนเอง เมื่อมีภาวะความดันต่ำ

  1. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และทานยาอย่างต่อเนื่อง
  2. พบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามอาการ
  3. พยายามไม่เครียด ดูแลสุขภาพจิต
  4. 4.เคลื่อนไหวร่างกาย หรือหมั่นออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอ
  5. ต้องรู้ตัวเองว่าว่าแพ้อาหาร หรือแพ้ยาอะไร เพื่อการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง
  6. ดูแลตนเอง รักษา ควบคุมโรคต่าง ๆที่เป็นสาเหตุของภาวะความดันต่ำ
  7. ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม

ความดันต่ำหรือภาวะความดันต่ำ เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการของโรคไม่ให้มีความรุนแรงโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ และหมั่นตรวจเช็กค่าความดัน เพื่อควบคุมให้ค่าความดันเป็นปกติอยู่เสมอ

aufarm-logo

เราจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสมุนไพรในราคาย่อมเยา และมีคุณภาพจากโรงงานที่ทันสมัย  ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และตรวจสอบได้

Copyright © 2020 Aufarm / All rights reserved.

เมนูหลัก