โรคเบาหวาน รู้ทันสาเหตุ ควบคุมอาการได้อยู่หมัด

เบาหวาน

ในยุคปัจจุบันที่โลกแห่งไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทุกสิ่งอย่างล้วนดูรีบเร่ง ความใส่ใจคุณภาพและคุณประโยชน์ของอาหารการกินที่ลดลง นำมาสู่ปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ คุณรู้ไหมว่าในปี 2562 ประชากรไทย 62 ล้านคน มีผู้ป่วยโรคเบาหวานถึง 5 ล้านคน (ประมาณ 8% ของประชากรไทย) แต่จะดีกว่าไหม ถ้าเรารู้ถึงสาเหตุของการเป็นโรคเบาหวาน และวิธีการป้องกันหรือการอยู่ร่วมกับโรคเบาหวาน

ประเภทของโรคเบาหวาน

โรคเบาหวาน สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

  • เบาหวานประเภทที่ 1 (Type 1 Diabetes) เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ ซึ่งเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมเป็นหลักและเป็นโรคเบาหวานที่ต้องการอินซูลินจากภายนอก  
  • เบาหวานประเภทที่ 2 (Type 2 Diabetes) เกิดจากการที่ตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ไม่เพียงพอต่อการใช้ หรือเกิดภาวะการดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance) โรคเบาหวานชนิดนี้เกิดได้จากหลายปัจจัย โดยเฉพาะจากไลฟ์สไตล์ โดยเฉพาะการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลกลูโคสสูง จึงทำให้อินซูลินที่ผลิตได้ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน รวมถึงในผู้ป่วยบางรายเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้อินซูลินไม่สามารถไปกระตุ้นให้เซลล์ดึงน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เซลล์ได้ดี ส่งผลให้มีน้ำตาลค้างอยู่ในกระแสเลือดเป็นปริมาณที่มาก ซึ่งภาวะนี้จะส่งผลเสียต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกายได้ภายหลัง
  • เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) ซึ่งเป็นโรคเบาหวานที่พัฒนาขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์จากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน โดยที่ผู้ป่วยไม่เคยเป็นโรคเบาหวานมาก่อน

อาการของโรคเบาหวาน

โรคเบาหวานในระยะแรกจะไม่แสดงอาการผิดปกติ บางรายอาจตรวจพบโรคเบาหวานเมื่อพบภาวะแทรกซ้อนขึ้นแล้ว อาการของโรคเบาหวานทั้ง 3 ประเภทมีอาการร่วมกัน คือ

  • กระหายน้ำมาก
  • ปากแห้ง
  • ปัสสาวะบ่อย
  • หิวบ่อย
  • น้ำหนักลดหรือเพิ่มผิดปกติ
  • สายตาพร่ามัว
  • เห็นภาพไม่ชัด
  • รู้สึกเหนื่อยง่าย 
  • มีอาการชาโดยเฉพาะมือและขา
  • บาดแผลหายยาก เป็นต้น

ทั้งนี้ อาการของโรคเบาหวานประเภทที่ 1 จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่โรคเบาหวานประเภทที่ 2 จะแสดงอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์มักเกิดขึ้นในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 24-28 สัปดาห์ และอาจจะเป็นต่อไปจนสิ้นสุดการตั้งครรภ์

การตรวจโรคเบาหวาน

ปัจจุบันการจำแนกผู้ป่วยโรคเบาหวานด้วยการตรวจปริมาณน้ำตาลในเลือด โดยการตรวจหลังงดอาหารและเครื่องดื่มมีน้ำตาลอยู่กระแสเลือด (Fasting blood glucose) ไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แสดงว่าระดับน้ำตาลในเลือดปกติ ถ้าหากสูงกว่านี้ก็เข้าข่ายต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน โดยการติดตามผลของการควบคุมระดับน้ำตาลสามารถทำได้โดย

  1. การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเวลาใดก็ได้ (Random/Casual Plasma Glucose Test)
  2. การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง (Fasting Plasma Glucose: FPG)
  3. การตรวจน้ำตาลเฉลี่ยสะสม หรือฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี (Hemoglobin A1c: HbA1c)
  4. การทดสอบการตอบสนองของฮอร์โมนอินซูลินต่อระดับน้ำตาลในเลือด (Oral Glucose Tolerance Test: OGTT)

ควบคู่กับการสอบถามประวัติครอบครัวและการตรวจดูอาการต่าง ๆ ที่เป็นลักษณะอาการของโรคเบาหวานเพื่อประกอบการวินิจฉัยโรค

ภาวะแทรกซ้อน

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานสามารถเกิดขึ้นได้เนื่องจากผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากกว่าปกติ และถ้าปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเป็นเวลานาน จะส่งผลต่อเส้นเลือดที่นำสารอาหารไปเลี้ยงอวัยวะในร่างกายจนนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ทั้งชนิดที่เกิดกับเส้นเลือดขนาดเล็ก เช่น เบาหวานขึ้นตา โรคไต เป็นต้น หรือโรคแทรกซ้อนชนิดที่เกิดกับเส้นเลือดขนาดใหญ่ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน เป็นต้น รวมไปถึงโรคแทรกซ้อนที่ระบบประสาทและที่สามารถทำให้ผู้ป่วยต้องสูญเสียอวัยะบางส่วน ในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดแผลเบาหวานขึ้นที่เท้า โดยที่แผลเริ่มมีลักษณะรุนแรงขึ้นจนนำไปสู่การตัดเท้าทิ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้แผลเบาหวานลามขึ้นไปส่วนอื่น ๆ

ในการรักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 1 สามารถทำได้โดยฉีดอินซูลินเข้าไปตามสถานการณ์ของระดับกลูโคสในกระแสเลือดภายหลังมื้ออาหาร และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาด้วยการควบคุมอาหาร และออกกำลังกายควบคู่กัน

ส่วนในโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ทำได้โดยการควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามว่าอาการของโรคดีขึ้นหรือไม่ แต่ถ้าหากยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะต้องให้อินซูลินชนิดกิน หรือว่าใช้การฉีดอินซูลิน

aufarm-logo

เราจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสมุนไพรในราคาย่อมเยา และมีคุณภาพจากโรงงานที่ทันสมัย  ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และตรวจสอบได้

Copyright © 2020 Aufarm / All rights reserved.

เมนูหลัก