ปัจจุบันการใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปตามความทันสมัยของเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมการบริโภค การทานอาหารซ้ำ ๆ หรือทานเมนูเดิม ๆ จากอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารตามร้านสะดวกซื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพเพราะร่างขาดสารอาหารหรือได้รีบสารอาหารไม่เพียงพอ ทำให้ต้องทานอาหารเสริมเพื่อช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างสมดุล ทำให้ร่างกายแข็งแรงมีภูมิต้านทานที่ดี นอกจากนั้นการทานอาหารมัน ๆ หวานจัด เผ็ดจัด หรือพฤติกรรมการรับประทานอาหารแล้วนอน ยังเป็นสาเหตุสำคัญของโรคกรดไหลย้อน อีกด้วย
โรคกรดไหลย้อน คืออะไร
กรดไหลย้อน คือภาวะที่กรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปอยู่ในหลอดอาหาร เมื่อเกิดอาการอักเสบของหลอดอาหาร ก็จะทำให้มีอาการแสบร้อนกลางกลางอก หรือมีอาการเรอเปรี้ยว และคลื่นไส้ โรคกรดไหลย้อนที่อาการยังไม่รุนแรงอาจเป็นปัญหาต่อการใช้ชีวิตทำให้รู้สึกรำคาญเมื่อมีอาการเรอเปรี้ยวหรือปวดร้อนบริเวณกลางอกเป็นครั้งคราวเท่านั้นอันตรายของโรคกรดไหลย้อน
ผู้ป่วยที่มีภาวะกรดไหลย้อน หากอาการไม่รุนแรงแต่ขาดการดูแลตนเอง ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและปล่อยละเลยจนกลายเป็นผู้ป่วยเรื้อรัง อาจเป็นอันตรายที่ยากต่อการรักษาจากภาวะแทรกซ้อน เพราะภาวะอักเสบเรื้อรังของหลอดอาหารที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุหลอดอาหารส่วนปลาย มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลอดอาหารได้มากที่สุดสาเหตุของอาการกรดไหลย้อน
กรดไหลย้อน เป็นภาวะของโรคที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้อง วิถีการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ หรือโรคบางชนิดก็มีส่วนกระตุ้นการทำงานของหลอดอาหารให้เกิดความผิดปกติได้ ส่วนสาเหตุหลัก ๆ ของอาการกรดไหลย้อน ได้แก่- เกิดจากความผิดปกติของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง หรือหูรูดของหลอดอาหารอาจเสื่อมสภาพ กรณีนี้มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ซึ่งเซลล์ต่าง ๆ ภายในร่างกายเริ่มเปลี่ยนแปลงหรือเสื่อมสภาพ เมื่อรับประทานอาหารน้ำย่อยและอาหารในกระเพาะจึงไหลย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหารทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอก
- เกิดจากการบีบตัวของหลอดอาหารทำงานผิดปกติ ทำให้น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารค้างอยู่ในหลอดอาหารนานขึ้น
- เกิดจากความผิดปกติของหูรูดหลอดอาหาร เช่น หูรูดกระเพาะอาหารปิดไม่สนิท หรือมีการเลื่อนของหูรูดกระเพาะไปจากส่วนที่ควรจะเป็นกระเพาะอาหารบีบตัวน้อยลง จนไม่สามารถนำอาหารที่ย่อยแล้วลงสู่ลำไส้ได้หมด อาหารจึงค้างอยู่ในกระเพาะอาหารเป็นเวลานาน เกิดแรงดันในกระเพาะอาหารจนไปดันให้หูรูดเปิดออก อาหารและน้ำย่อยจึงย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร กรณีนี้มักทำให้มีอาการเรอเปรี้ยว
- เกิดจากปัจจัยเสริมอื่น ๆ ที่เป็นตัวกระตุ้น เช่น
- รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา
- เร่งรีบในการทานอาหาร
- เข้านอนหลังรับประทานอาหารทันที
- ชอบอาหารมัน และอาหารรสจัด เช่น หวานจัด เผ็ดจัด
- ดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ ที่อาจส่งผลให้หูรูดหลอดอาหารคลายตัวและเสี่ยงต่อการเป็นกรดไหลย้อน
- ความอ้วน หรือการตั้งครรภ์ เพราะมีความดันในช่องท้องมากกว่าคนทั่วไป จึงมีเสี่ยงต่อการเป็นกรดไหลย้อน
รู้ได้อย่างไร ว่าเป็นกรดไหลย้อน
โรคกรดไหลย้อน เมื่อมีอาการเริ่มแรกบางครั้งอาจพบอาการนี้ไม่ชัดเจน หรือมีอาการใกล้เคียงกับโรคอื่น ๆ เช่น ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เรอเปรี้ยวและมีอาการแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ แล้วลามมาที่บริเวณหน้าอกหรือคอ หากต้องการรู้ว่าเป็นกรดไหลย้อนหรือไม่ ทำได้ 2 วิธี คือ- วินิจฉัยจากแพทย์จากการชักประวัติ และอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก หรืออาจพิจารณาตรวจพิเศษด้านอื่นเพิ่มเติม หากไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดหรืออาการไม่ชัดเจน เช่น การส่องกล้องทางเดินอาหาร การตรวจการเคลื่อนไหวของหลอดอาหาร หรือการตรวจระบบทางเดินอาหาร
- การเช็กอาการของกรดไหลย้อนด้วยตัวเอง เช่น สังเกตอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอกและลิ้นปี่ มีน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาจนรู้สึกขมที่คอ มีอาการจุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด เหมือนอาหารไม่ย่อย และเป็นอาการที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงหลังรับประทานอาหาร และอาจมีอาการเสียงแหบในช่วงเช้า หรือแหบเรื้อรัง ซึ่งอาจเกิดจากกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาทำให้กล่องเสียงอักเสบ
การรักษา อาการกรดไหลย้อน
- เมื่อแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าอาการแสดงเสี่ยงต่อโรคกรดไหลย้อน เริ่มต้นจะรักษาด้วยการกินยาปรับการหลั่งน้ำย่อยก่อนประมาณ 1-2 สัปดาห์ ทั้งนี้ การรับประทานยาเป็นทั้งการรักษาและวินิจฉัย
- กินยาลดกรด ช่วยลดการหลั่งกรดในกระเพาะทั้งนี้ต้องกินตามแพทย์สั่งเท่านั้น
- รักษาด้วยวิธีผ่าตัด สำหรับผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ที่ไม่สามารถรักษาด้วยการยา หรือได้รับผลข้างเคียงจากยา
วิธีป้องกันตนเองจากโรคกรดไหลย้อน
- ปรับพฤติกรรมการบริโภค หลีกเลี่ยงอาหารมัน และอาหารรสจัด หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ที่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้กระเพาะหลั่งกรดออกมามากเกินไป
- หลีกเลี่ยงการประทานอาหารแล้วนอนทันที ป้องกันภาวะกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปอยู่ในหลอดอาหาร
- ควบคุมน้ำหนัก โดยการควบคุมอาหารและหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- หลังจากรับประทานอาหารอิ่มใหม่ ๆ ควรรอให้อาหารย่อยประมาณ 2-3 ชั่วโมง ก่อนทำงานหนักหรือเป็นงานที่ต้องก้ม ๆ เงย ๆ
- หลีกเลี่ยงความเครียด เพราะส่งผลให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมามากเกินไป จนเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคกรดไหลย้อน