“นอนกรน” รักษาได้ไม่ต้องผ่าตัด

นอนกรน

ท่านเป็นคนหนึ่งหรือไม่ ที่มีอาการนอนกรน เชื่อว่าหลายคนไม่ทราบว่าตัวเองมีอาการนอนกรน โดยเฉพาะคนที่อาการนอนกรนยังไม่รุนแรงมากนัก

“นอนกรน” เป็นอาการที่พบได้มากในขณะนอนหลับสนิทและเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัยรวมถึงเด็กเล็ก ๆ อาการนอนกรนที่มีความรุนแรงและมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพที่จำเป็นจะต้องทำการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด เพื่อลดความรุนแรงของอาการนอนกรนเกิดจากอะไร ? รักษาโดยไม่ต้องผ่าตัดได้หรือไม่ ? บทความนี้มีคำตอบค่ะ

นอนกรนและสาเหตุของการนอนกรน

นอนกรน คือความผิดปรกติของการหายใจขณะหลับในช่วงของการหลับลึกหรือหลับสนิท มีสาเหตุมาจากการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ทางเดินหายใจแคบลงจนทำให้เนื้อเยื่อในทางเดินหายใจส่วนบนสั่นสะเทือนจนทำให้เกิดเสียงดังหรือเสียงการกรน ซึ่งเกิดจากการที่อากาศเคลื่อนผ่านทางเดินหายใจที่แคบลง และเสียงกรนจะดังมากขึ้นเมื่ออยู่ในท่านอนหงาย พบได้ในเพศชายมากกว่าในเพศหญิง อาการนอนกรนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. อาการนอนกรนแบบธรรมดา

นอนกรนแบบธรรมดา เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุดไม่อันตรายและไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพมากนัก ลักษณะการนอนกรน เกิดจากการอุดกั้นทางเดินหายใจเพียงเล็กน้อยเพราะช่วงหลับสนิท กล้ามเนื้อบริเวณช่องคอจะคลายตัว ทำให้ลิ้นและลิ้นไก่ตกไปทางด้านหลัง เวลาหายใจเข้าผ่านตำแหน่งที่แคบ จะทำให้มีการสั่นสะเทือนของลิ้นไก่และเพดานอ่อนหรือโคนลิ้น ทำให้เกิดเสียงกรนขึ้น อาการนอนกรนแบบธรรมดาไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพมากนัก นอกจากก่อให้เกิดความรำคาญให้กับผู้ที่อยู่ใกล้ชิด และอาจมีผลกระทบทางอ้อมเช่นทำให้ขาดความมั่นใจในตัวเอง เมื่อต้องทำงานหรือพักร่วมห้องกับผู้อื่น

2.อาการนอนกรนแบบอันตราย

อาการนอนกรนแบบอันตราย เกิดจากการที่มีทางเดินหายใจแคบมากเวลานอนหลับ เมื่อหายใจลำบากจะทำให้มีเสียงกรนดังและเบาไม่สม่ำเสมอ และจะสลับกันเป็นช่วง ๆ เป็นลักษณะที่เป็นอันตราย เนื่องจากมีภาวะของการหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย ส่งผลให้ระดับออกซิเจนในเลือดแดงลดต่ำลง จนอาจก่อให้เกิดความผิดปกติในการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ปอด หัวใจ และสมอง

ผลกระทบต่อการใช้ชีวิต อาการนอนกรนแบบอันตรายนอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต เช่น ภาวะหยุดหายใจเป็นช่วง ๆ ส่งผลให้ผู้ป่วยสะดุ้งตื่นบ่อย ๆ ทำให้นอนหลับไม่สนิทหรือนอนหลับไม่เต็มตื่น พักผ่อนไม่เพียงพอทำให้มีอาการง่วงนอนในเวลากลางวัน ส่งผลกระทบทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนหรือการทำงานแย่ลง และก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ในสถานที่ทำงานได้มากกว่าคนปรกติถึง 2-3 เท่า มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองและโรคอื่น ๆ

การวินิจฉัยอาการนอนกรน

อาการนอนกรนนอกจากแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ อาการนอนกรนแบบธรรมดา และอาการนอนกรนแบบอันตรายแล้ว ความรุนแรงของการนอนกรนยังแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่

  • ความรุนแรงระดับที่ 1 คือลักษณะการนอนกรนทั่วไป อาการกรนเกิดขึ้นไม่บ่อย เสียงไม่ดัง และการนอนกรนในระดับนี้ยังไม่ส่งผลต่อภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับ แต่อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของบุคคลที่นอนข้าง ๆ
  • ความรุนแรงระดับที่ 2 คือการนอนกรนที่เกิดขึ้นมากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ การนอนกรนในระดับนี้เป็นปัญหาต่อสุขภาพ เพราะส่งผลต่อการหายใจในในขณะนอนหลับ ทำให้นอนหลับไม่สนิทพักผ่อนไม่เพียงพอในช่วงเวลากลางคืนและส่งผลให้รู้สึกง่วงและเหนื่อยในเวลากลางวัน
  • ความรุนแรงระดับที่ 3 คือการนอนกรนเป็นประจำทุกวันและกรนเสียงดัง การนอนกรนในระดับนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะมีภาวะหยุดหายในขณะหลับร่วมด้วย อาจทำให้ทางเดินหายใจถูกปิดกั้นบางส่วนหรือทั้งหมด หากปิดกั้นเป็นเวลานานไม่น้อยกว่า 10 วินาที จะส่งผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานและการใช้ชีวิตในหลาย ๆ ด้าน

ก่อนการรักษา แพทย์จึงต้องทำการวินิจฉัยอาการนอนกรน เพื่อให้สามารถวางแผนและตัดสินใจในการรักษาได้อย่างถูกต้อง เช่น วินิจฉัยจากอาการของผู้ที่นอนกรน การตรวจร่างกาย และแนวทางอื่น ๆ ได้แก่ การเอกซเรย์ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

การรักษาอาการนอนกรน

ปัจจุบันการรักษาอาการนอนกรน ทำได้ 2 แนวทาง คือ การรักษาด้วยการผ่าตัดและการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยสามารถเลือกได้ สำหรับการนอนกรนในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือมีภาวะภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งเป็นการนอนกรนในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หากแพทย์วินิจฉัยว่าไม่สามารถบรรเทาการนอนกรนได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือการใช้อุปกรณ์ช่วยลดการนอนกรนได้ ก็จะทำการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด

สำหรับการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด เป็นวิธีที่แพทย์มักแนะนำเป็นอันดับแรก และการรักษาอาการนอนกรนหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับไม่จำเป็นต้องผ่าตัด เพราะปัจจุบันการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัดมีหลายแนวทาง ดังนี้

  • การใช้ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine) ในการบรรเทาอาการบวมและระคายเคืองในจมูกของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือยาแก้คัดจมูก เพื่อรักษาที่ต้นเหตุของการนอนกรน
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการนอน พยายามนอนในท่าตะแคง เพราะการนอนหงายจะทำให้เกิดการอุดตันทางเดินหายใจง่ายขึ้น
  • ใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งเป็นเครื่องช่วยเป่าลมในทางเดินหายใจส่วนบน หรือ CPAP โดยนำหน้ากากมาครอบจมูกให้แนบสนิทไม่ให้อากาศไหลเข้าออกได้ ตัวเครื่องจะต่อกับอุปกรณ์ที่จะขับลมเข้าไปในปอดแทนการหายใจปรกติ ช่วยไม่ให้ทางเดินหายใจถูกอุดกั้นลดอาการนอนกรน ทำให้ผู้ป่วยหลับสนิทไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

นอนกรน เป็นอาการที่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยทั้งตรงและทางอ้อม หากพบว่ามีอาการอ่อนเพลีย ตื่นบ่อยและนอนหลับไม่สนิท มีอาการง่วงนอนในเวลากลางวัน อาจเกิดจากการนอนกรนก่อนที่อาการนอนกรนจะอยู่ในขั้นรุนแรง ควรเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ และหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

aufarm-logo

เราจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสมุนไพรในราคาย่อมเยา และมีคุณภาพจากโรงงานที่ทันสมัย  ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และตรวจสอบได้

Copyright © 2020 Aufarm / All rights reserved.

เมนูหลัก