ต่อมลูกหมากโต โรคที่ผู้ชายไม่พึงปรารถนา สาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

ต่อมลูกหมากโต

ต่อมลูกหมาก เป็นอวัยวะที่อยู่ในระบบสืบพันธ์ของเพศชาย ลักษณะคล้ายลูกเกาลัด  มีหน้าที่ในการสร้างสารที่เป็นของเหลว สารหล่อเลี้ยงอสุจิเพื่อให้อสุจิมีความสมบูรณ์เหมาะกับการสืบพันธ์อีก ทั้งยังช่วยห่อหุ้มท่อปัสสาวะส่วนต้นไว้ด้วย ต่อมลูกหมากโต คือภาวะที่ต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่ผิดปกติ และยังเป็นปัญหาสุขภาพที่สร้างความวิตกกังวลใจให้กับคุณผู้ชาย อาการต่อมลูกหมากโตส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร อาการและวิธีรักษา ควรทำอย่างไร aufarm.shop มีคำตอบมาให้เช่นเคยครับ

ต่อมลูกหมากโต คืออะไร ?

ต่อมลูกหมากจะอยู่ติดกับกระเพาะปัสสาวะ มีขนาดปกติประมาณ กว้าง 4 เซนติเมตร ยาว 3 เซนติเมตรและหนา 2 เซนติเมตร ต่อมลูกหมากโต (Benign Prostatic Hyperplasia) คือการที่ต่อมลูกหมากมีอาการใหญ่ขึ้นจนผิดปกติ ทำให้ไปกดทับท่อปัสสาวะให้ตีบตัน ทำให้ผู้ที่เป็นเกิดการปัสสาวะลำบาก อีกทั้งยังทำให้ผนังของกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะหนา เพราะต้องบีบตัวแรงขึ้นเพื่อขับปัสสาวะให้ออกมาจากท่อแคบ ๆ เมื่อผนังหนาขึ้นก็จะทำให้ความสามารถในการเก็บปัสสาวะลดลง ส่งผลให้ผู้ที่เป็นต้องปัสสาวะบ่อย ๆ โรคนี้พบมากในผู้ชายอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 50% และพบได้ 90% ในผู้ชายอายุ 90 ปี ขึ้นไป 

สาเหตุและอาการ

อาการต่อมลูกหมากโต ทางการแพทย์ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุอย่างแน่ชัด แต่พบว่าอาจจะมีส่วนสัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น และการมีฮอร์โมนที่ไม่สมดุลของเพศชาย หรือบางรายก็เกิดจากกรรมพันธุ์ โดยอาการเมื่อต่อมลูกหมากโตมักทำให้เกิดการอุดกั้นของท่อทางเดินปัสสาวะและคอปัสสาวะ เพราะต่อมลูกหมากได้ห่อหุ้มท่อปัสสาวะส่วนต้นไว้ เมื่อท่อปัสสาวะเกิดการอุดกั้นผู้ที่เป็นมักมีอาการ ดังนี้

  1. ปัสสาวะบ่อยมากทั้งกลางวันและกลางคืน บางครั้งกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือปัสสาวะขัด ต้องเบ่ง 
  2. ปัสสาวะต้องรอนานกว่าจะออกและปัสสาวะช้า ออกเป็นหยดกว่าจะหมด เหมือนปัสสาวะไม่ค่อยสุด 
  3. เมื่ออาการรุนแรงมักทำให้ปัสสาวะไม่ออก และขณะเบ่งปัสสาวะมักมีเลือดปน เพราะเส้นเลือดภายในต่อมลูกหมากแตก บางรายปัสสาวะออกไม่หมด ทำให้เกิดการค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะทำให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้อีกด้วย
  4. เมื่อเป็นขั้นรุนแรงอาจมีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ และทำให้ไตเสื่อมซึ่งทำให้เกิดเป็นอันตรายมาก 

เจาะเลือด

การวินิจฉัย อาการต่อมลูกหมากโตจากแพทย์ 

การวินิจฉัย ต่อมลูกหมากโต แพทย์จะทำการวินิจฉัยเพื่อให้ทราบว่า อาการของโรคอยู่ในระยะใด โดยจะแบ่งออกตามความรุนแรง เช่น น้อย ปานกลาง และรุนแรง ในการวินิจฉัยแพทย์จะมีขั้นตอน ดังนี้

  1. ซักประวัติ เพื่อสอบถามอาการต่าง ๆ และตรวจร่างกาย ตรวจต่อมลูกหมากด้วยการใช้มือกดลงบนต่อมลูกหมากเพื่อตรวจและประเมินขนาด ทางทวารหนัก ใช้การส่องกล้องหรือใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ 
  2. ทดสอบการไหลของปัสสาวะ จากนั้นก็จะทำการเพาะเชื้อจากปัสสาวะ และหาปริมาณน้ำปัสสาวะที่เก็บอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ
  3. เจาะเลือดเพื่อแยกว่าเป็นโรคต่อมลูกหมากโตหรือมะเร็งต่อมลูกหมาก

การรักษาโรคต่อมลูกหมากโต

การรักษาโรคต่อมลูกหมากโต แพทย์จะทำการรักษาตามระยะของอาการ ดังนี้

ระยะที่ยังไม่มีอาการ 

แพทย์จะเฝ้าดูอาการหากยังอยู่ในขั้นที่ไม่รุนแรงและไม่มีโรคแทรกซ้อน การเฝ้าระวังก็เพื่อประเมิน

ว่าเกิดผลกระทบกับผู้ป่วยแล้วหรือไม่ หากยังไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพก็จะยังไม่ทำการรักษา

ระยะที่แสดงอาการน้อยจนถึงปานกลาง 

ระยะนี้แพทย์จะเริ่มให้ยาลดขนาดต่อมลูกหมากและกลุ่มยาต้าน เพื่อช่วยลดขนาดของต่อมลูกหมากให้เล็กลง หรืออาจเป็นยาคลายกล้ามเนื้อเรียบ เพื่อให้ต่อมลูกหมากคลายตัวและอ่อนลง สำหรับกลุ่มยาต้านอาจส่งผลให้ความต้องการทางเพศลดลง หรือมีผลต่อระดับของสารที่บ่งชี้ว่าจะเป็นมะเร็งด้วยหรือไม่

  • รักษาด้วยการใช้ความร้อนจากพลังงานคลื่นไมโครเวฟหรือคลื่นวิทยุความถี่ กับเนื้อเยื่อของต่อมลูกหมาก ทำให้ต่อมลูกหมากเหี่ยวเล็กลงและช่วยให้ท่อปัสสาวะมีขนาดกว้างขึ้น วิธีนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยม มีค่าใช้จ่ายแพง
  • ผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง เป็นการตัดชิ้นเนื้อที่เกินออกจากต่อมลูกหมาก โดยแพทย์จะทำการส่งกล้องขนาดเล็กที่มีท่อ โดยที่ปลายท่อจะมีเครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็กมาก ผ่านเข้าทางท่อปัสสาวะ เพื่อตัดเนื้อเยื่อของต่อมลูกหมากที่กดทับท่อปัสสาวะ วิธีนี้ได้รับความนิยมมากที่สุด

ระยะที่แสดงอาการ

เป็นระยะที่อาการต่อมลูกหมากโต มีขนาดโตมาก แพทย์อาจต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องเพื่อเอาเนื้อส่วนที่เกินและทำให้ต่อลูกหมากโตออก

การดูแลตนเองสำหรับผู้ที่เป็นโรคต่อมลูกหมากโต

  1. ก่อนนอนไม่ควรดื่มน้ำมาก ลดการดื่มเครื่องดื่มที่ทำให้ปัสสาวะบ่อย เช่น แอลกอฮอล์ กาแฟ รวมทั้งยาบางชนิดที่อาจกระตุ้นทำให้โรคต่อมลูกหมากมีอาการหนักขึ้น เช่น ยาแก้ปวดท้อง ยาแก้หวัด
  2. ควรหมั่นขมิบอุ้งเชิงกรานบ่อย ๆ เป็นการช่วยฝึกความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อของทางเดินปัสสาวะทำหน้าที่ได้ดีขึ้น
  3. ควรออกกำลังด้วยการเดินเป็นประจำ 
  4. หลีกเลี่ยงการอั้นปัสสาวะเพื่อป้องกันกระเพาะปัสสาวะเสียหาย 
  5. ควรเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ 

นอกจากนั้น การปรับพฤติกรรมตนเองโดยปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น การควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ฝึกการเข้าห้องน้ำทุก 4-6 ชั่วโมงจนกลายเป็นนิสัย ทำควบคู่ไปกับการรักษา ก็จะทำให้การรักษาอาการต่อมลูกหมากโตเห็นผลได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งการรู้เท่าทันโรคยังทำให้อาการของโรคนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากนัก

aufarm-logo

เราจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสมุนไพรในราคาย่อมเยา และมีคุณภาพจากโรงงานที่ทันสมัย  ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และตรวจสอบได้

Copyright © 2020 Aufarm / All rights reserved.

เมนูหลัก