ภาวะกระดูกพรุน ภัยเงียบในช่วงวัยทอง

ปวดกระดูก

โรคกระดูกพรุน คือภาวะของกระดูกที่มีอาการเปราะบาง ผิดรูป และแตกหักได้ง่าย อาการเหล่านี้ยังเป็นภัยเงียบเพราะไม่พบว่ามีอาการใด ๆ ที่เป็นสัญญาณบ่งบอกมาก่อนผู้ป่วยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือผู้ที่อยู่ในช่วงวัยทองจะไม่รู้ว่าตัวเองว่ามีภาวะกระดูกพรุน นอกจากมีอาการเจ็บปวดจากรอยแตกร้าวภายในซึ่งเกิดจากการแตกหักของกระดูก

ภาวะกระดูกพรุน ภัยเงียบในช่วงวัยทอง

พูดถึงวัยทอง คือช่วงวัยที่มีความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เนื่องจากเป็นช่วงที่หมดประจำเดือน โดยเฉพาะวัยทองที่เป็นเพศหญิงที่ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนได้น้อยลง มีโอกาสเกิดโรคกระดูกพรุนได้มากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงจะมีเนื้อกระดูกน้อยกว่าผู้ชาย ส่งผลให้เกิดปัญหากระดูกแตก ร้าว หรือหักได้ง่าย ๆ โดยที่ไม่รู้ ทำให้ไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่แรก

โรคกระดูกพรุน คืออะไร ?

กระดูกพรุน คือ โรคที่ร่างกายมีความหนาแน่นและมีมวลกระดูกน้อย เนื่องจากการขาดแคลเซียม จนทำให้กระดูกเปราะ บาง เสื่อม แตกหักได้ง่าย เพราะกระดูกรับน้ำหนักมากไม่ได้ พบได้บ่อยที่บริเวณสะโพก กระดูกสันหลัง และยังสามารถเกิดได้กับกระดูกส่วนอื่น ๆ ได้ด้วย

อาการของโรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุน ส่วนใหญ่ไม่มีอาการใด ๆ ผู้ที่เป็นมักจะไม่รู้ตัว จะพบก็ต่อเมื่อมีอุบัติเหตุ เช่น ล้ม กระดูกเกิดการแตกหัก เกิดความเจ็บปวดและได้เข้ารับการรักษา จึงตรวจพบว่าเป็นโรคนี้ โดยโรคกระดูกพรุนสามารถสังเกตอาการบ่งชี้ได้ ดังนี้

  • กระดูกตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น แขน ขา ข้อมือ สะโพก กระดูกสันหลังแตกหักง่าย
  • กระดูกสันหลังโค้งงอลง ปวดหลัง บางรายพบความสูงลดลงด้วย

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน

กระดูกพรุน มีสาเหตุมาจากการทำงานของเซลล์สร้างกระดูกกับเซลล์สลายเนื้อกระดูกเก่าทำงานไม่สมดุลกัน ทำให้มีการสลายเซลล์มากกว่าการสร้างเซลล์กระดูก ซึ่งอาจเกิดจากการที่ร่างกายมีปริมาณแคลเซียมไม่เพียงพอต่อกระบวนการสร้างกระดูกหรือเซลล์ของกระดูกมีความผิดปกติ โดยมีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุนมี ดังนี้

  1. อายุมาก ทำให้การสร้างเซลล์กระดูกทดแทนเป็นไปได้ช้า หากร่างกายขาดแคลเซียมและไม่ได้ทานอาหารเสริมเพื่อไห้ร่างกายได้รับแคลเซียมที่เพียงพอต่อการสร้างกระดูก และยิ่งอายุมากการสูญเสียมวลกระดูกยิ่งเพิ่มมากขึ้น เสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้ได้สูง
  2. เพศ พบว่า เพศหญิงที่ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนได้น้อยลง มีโอกาสเกิดโรคกระดูกพรุนได้มากกว่าเพศชาย
  3. กรรมพันธุ์ พบว่าครอบครัวที่มีญาติหรือพี่น้องหรือพ่อแม่ ที่เป็นโรคนี้มีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนสูง เนื่องจากได้รับการถ่ายทอดทางพันธุ์กรรม
  4. ฮอร์โมนเพศลดน้อย โดยเฉพาะในผู้หญิงและผู้ชายในช่วงวัยทองที่มีการผลิตฮอร์โมนเพศลดลง ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดเป็นโรคกระดูกพรุนได้สูง
  5. การทำงานของอวัยวะหรือต่อมต่าง ๆ ผิดปกติ เช่น ต่อมไทรอยด์ ต่อมหมวกไตหรือไต และตับทำงานผิดปกติ
  6. เกิดจากโรคบางชนิด เช่น โรคทางเดินอาหาร โรคตับ ไต โรคภูมิแพ้ตัวเอง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคมะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งกระดูก
  7. พฤติกรรมการบริโภค เช่น กินอาหารที่มีแคลเซียมน้อย ดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งส่งผลให้ร่างกายได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ หรือการสูบบุหรี่ที่มีสารนิโคติน ที่เป็นตัวทำร้ายเซลล์สร้างกระดูก
  8. พฤติกรรมประจำวัน เช่น การทำงานที่ใช้ร่างกายหนัก การอยู่ในอิริยาบถเดิม ๆ เป็นเวลานาน ๆ
  9. ใช้ยาบางชนิดรบกวนการสร้างกระดูก เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยารักษาการอักเสบ
กระดูกพรุน

Photo by German Tenorio on Foter.com / CC BY-SA

ภาวะแทรกซ้อนของโรคกระดูกพรุน

ภาวะแทรกซ้อนมักเกิดจากความเจ็บปวดจากการที่กระดูกทรุดตัว การเคลื่อนไหวและการใช้ชีวิตประจำวันทำได้ไม่ปกติหรือทำได้น้อยลง ทำให้การทำกิจกรรมต่าง ๆ ทำได้อย่างจำกัด บางรายต้องแยกตัวจากสังคม ไม่สามารถทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น ๆ นอกบ้านได้ นานวันอาจส่งผลกระทบทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้ หรือบางรายกระดูกสะโพกหัก ทำให้ต้องนั่งนอนอยู่กับที่จนเกิดเป็นแผลกดทับ หรือเป็นโรคติดเชื้อในกระเพาะที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การวินิจฉัยโรคของแพทย์ก่อนการรักษา

การวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระดูกพรุนหรือไม่นั้น ทำได้โดยการตรวจหาความหนาแน่นของกระดูกด้วยการฉายภาพรังสี DEXA Scan ซึ่งเป็นเครื่องสแกนที่ใช้เวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง และให้ประสิทธิภาพในการประเมินสูง การนำรังสีเข้าสู่ร่างกายต่ำ โดยไม่สร้างความเจ็บปวดให้คนไข้ เมื่อทราบผลการตรวจแน่ชัดว่าผู้ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน แพทย์ก็จะวางแผนเข้าสู่ขั้นตอนการรักษาต่อไป

ขั้นตอนการรักษาโรคกระดูกพรุน

การรักษาจะเน้นการกระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก และลดการทำลายเซลล์กระดูกด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  1. การบำรุงกระดูก รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูง หรือทานยาเม็ดเสริมแคลเซียมและวิตามินดี และออกไปรับแสงแดดในตอนเช้า
  2. การใช้ยายับยั้งการทำลายเซลล์กระดูก เช่น ยาอะเลนโดรเนท ช่วยลดการสลายตัวของกระดูก และเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก
  3. ฉีดยาเพิ่มฮอร์โมน เช่น ผู้หญิงวัยทอง วัยหมดประจำเดือน

การบำรุงดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากโรคกระดูกพรุน

  • ออกกำลังกายเป็นประจำตามความเหมาะสมของอายุ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน และงดสูบบุหรี่ เพื่อป้องกันการทำลายกระดูก
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินให้เพียงพอ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กระดูกเช่น น้ำส้ม เต้าหู้ งา ผักใบเขียว กุ้งฝอย ปลาเล็กปลาน้อย ตับ ไข่แดง เนื้อ ปลาทู ฟักทอง เห็ด
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในช่วงวัยทอง ที่มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจเป็นประจำทุกปี

การตรวจสุขภาพหาความหนาแน่นของมวลกระดูก โดยเฉพาะผู้ที่จัดว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรกระทำตั้งแต่ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยควรตรวจหาทั้งผู้ที่มีอาการและไม่มีอาการ พร้อม ๆ ไปกับการปฏิบัติตนตามหลักการดูแลตนเอง ถึงแม้โรคกระดูกพรุนจะเป็นภัยเงียบที่ไม่แสดงอาการใด ๆ มาก่อน แต่ก็จะเป็นโรคที่สามารถป้องกันการเกิดได้เช่นกัน

aufarm-logo

เราจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสมุนไพรในราคาย่อมเยา และมีคุณภาพจากโรงงานที่ทันสมัย  ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และตรวจสอบได้

Copyright © 2020 Aufarm / All rights reserved.

เมนูหลัก