โรคข้อเข่าเสื่อม อาการ และแนวทางการรักษา

ข้อเข่าเสื่อม เจ็บเข่า
โรคข้อเช่าเสื่อม เป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้มากโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เนื่องจากสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงแบบถดถอย ความแข็งแรงของกระดูกย่อมเสื่อมสภาพลง และกลายเป็นภัยเงียบที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน นอกจากนั้นพฤติกรรมการใช้ชีวิตก็เป็นปัจจัยสำคัญ หากใช้ข้อเข่าอย่างไม่ระมัดระวังภาวะข้อเช่าเสื่อมก็สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ข้อเข่าเสื่อมเกิดจากสาเหตุใด มีอาการและแนวทางการรักษาอย่างไร บทความนี้มีคำตอบครับ

ข้อเข่าเสื่อม และอาการของโรค 

ข้อเข่าเสื่อม ( osteoarthritis) คือภาวะที่กระดูกอ่อนผิวข้อเข่า มีการสึกหรอและเสื่อมอย่างช้า ๆ อาการจะรุนแรงมากขึ้นตามวัย เนื่องจากเป็นปัญหาสุขภาพที่พบมากในผู้สูงอายุ 1 ใน 5 ของผู้สูงอายุในประเทศไทย และพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ในแต่ละปี อาการของข้อเข่าเสื่อม ทำให้เกิดอาการปวดเข่า เข่าบวม ข้อยึดติด มีเสียงดังในเข่า เข่าผิดรูป ทำให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติหรือมีความยากรำบากในการใช้ชีวิต

สาเหตุของโรคข้อเข่าเสื่อม

ข้อเข่าเสื่อม เป็นอาการของโรคที่เกิดจากการเสื่อมตามอายุที่มากขึ้น หรืออาจเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ลักษณะงานที่ทำประจำบางประเภทที่อาจส่งผลต่อข้อเข่าหรือทำให้ข้อเข่าเสื่อม เช่น คนที่ใช้แรงงาน หรือกรรมกร โดยทั่วไปปัจจัยที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ ได้แก่
  1. อายุ ผู้ที่มีอายุมากมีโอกาสเป็นมากกว่าเนื่องจากข้อเข่าผ่านการใช้งานมานาน
  2. เพศ เพศหญิงมีโอกาสเป็นมากกกว่าเพศชาย 2 เท่า
  3. น้ำหนัก น้ำหนักตัวมากจะทำให้เข่ามีแรงกดทับมากเข่าจะเสื่อมเร็ว
  4. พฤติกรรมการใช้เข่า เช่นการนั่งพับเพียบ การนั่งยอง หรือการกระโดดกระแทกจะทำให้เข่าเสื่อมเร็ว
  5. อุบัติเหตุกับข้อเข่า เช่นเข่าบิด เข่าแพลง หรือข้อเขาได้รับการกระแทกทำให้กระดูกอ่อนเสียหาย
  6. โรคในข้อเข่า เช่น โรคเก๊าต์ โรครูมาตอยต์ จะทำลายกระดูกอ่อนทำให้เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม

  1. ข้อเข่ามีอาการบวมและฝืด
  2. ข้อเข่ามีลักษณะผิดรูป
  3. สูญเสียการเคลื่อนไหวจากการทำงานของข้อเข่า
  4. ข้อเข่าเหยียดและงอไม่สุด
  5. มีเสียงดังในข้อเข่า

การวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อม

ภาวะข้อเข่าเสื่อม ที่มีอาการรุณแรงและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต เมื่อต้องทำการรักษาแพทย์จะทำการวินิจฉัย โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอายุเกิน 50 ปี หากพบอาการฝืดแข็งในตอนเช้า มีเสียงดังในข้อเข่า และมีอาการปวดบวม แพทย์จะวินิจฉัยตามขั้นตอน ดังนี้
  1. การซักประวัติ ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง เพื่อเช็คดัชนีมวลกาย และวัดความดันโลหิต
  2. การตรวจร่างกายเพื่อประเมินความรุนแรงของโรคข้อเข่าเสื่อม อาการปวดของโรค ความผิดปกติของข้อเข่า
  3. ประเมินความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน
  4. ภาพถ่ายรังสี เพื่อประเมินความรุนแรงของโรคข้อเข่าเสื่อม
  5. การเจาะเลือดตรวจหาสาเหตุของการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อม เช่นโรคเก๊าต์ โรครูมาตอยต์
  6. การตรวจน้ำในข้อ (joint fluid analysis) โดยการเจาะน้ำในข้อเข่าเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
การผ่าตัด

ภาพโดย Sasin Tipchai จาก Pixabay

แนวทางการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม 

โรคข้อเข่าเสื่อมมีแนวทางการรักษา 2 วิธี

1. การรักษาโดยการใช้ยา

  • การใช้ยาในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ควบคุมอาการของโรค เช่น ยาบรรเทาปวด ได้แก่ยาพาราเซตามอล ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ได้แก่ยาไอบูโปรเฟน ไพร๊อกซิแคม และที่ใช้ฉีดเข้าข้อ ได้แก่ไฮโดรคอร์ติโซน
  • การใช้ยาในกลุ่มที่ชะลอการเสื่อมของกระดูกอ่อนได้แก่ยา คอนดรอยตินซัลเฟต กลูโคซามีนซัลเฟต ช่วยซ่อมแซมกระดูกอ่อน เพิ่มน้ำหล่อเลี้ยงข้อเข่าทำให้ข้อเข่าทำงานได้ดีขึ้น

2. การรักษาโดยการผ่าตัด 

การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมโดยการผ่าตัดนั้น ก่อนการรักษาแพทย์จะทำการวินิจฉัยว่าอาการของผู้ป่วยอยู่ในระดับใดและจะต้องทำการผ่าตัดเพื่อรักษาแบบใด โดยวิธีที่นิยมในปัจจุบันมีดังนี้
  1. การผ่าตัดโดยส่องกล้อง เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมในระยะแรกและยังไม่มีความรุนแรงมากนัก ในการผ่าตัดแพทย์จะสอดกล้องเข้าไปเพื่อตรวจดูความเสียหายของกระดูกอ่อน และนำเศษกระดูกอ่อนที่เสียหายออกมา การผ่าตัดแบบนี้แผลจะมีขนาดเล็ก
  1. การผ่าตัดเพื่อปรับแนวโครงสร้างของกระดูกหรือเพื่อจัดให้กระดูกมีรูปแบบที่เหมาะสมต่อการลงน้ำหนักกดทับที่ข้อเข้า ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดและทำให้ข้อเข่าทำงานได้ดีขึ้น
  1. การผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเป็นการผ่าตัดเพื่อนำข้อเข่าที่เสียหายออกแล้วนำข้อเข่าเทียมที่ทำมาจากโลหะหรือพลาสติกมาแทนที่ เมื่อรักษาโดยวิธีนี้ผู้ป่วยจะมีสามารถใช้ข้อเข่าได้อีกหลายปี

การดูแลตนเอง เพื่อป้องกันโรคข้อข่าเสื่อม

  1. การศึกษาหาความรู้เรื่องข้อเข่าเสื่อม
  2. การออกกำลังกายกล้ามเนื้อบริเวณรอบหัวเข่าและต้นขาให้แข็งแรงเพื่อช่วยพยุงหัวเข่า
  3. การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ช่วย เช่น ไม้เท้า รองเท้ากันลื่น 
  4. การใช้ผ้าหุ้มเข่าหรือที่รัดเข่าเพื่อช่วยรองรับแรงกระแทกข้อเข่า
  5. การรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อข้อเข่า เช่น ปลา งาดำ ฟักทอง ข้าวโพด เชอรี่ 
  6. งดอาหารที่มีรสเค็มจัด หวานจัด อาหารทอด อาหารที่ปรุงโดยใช้ความร้อนสูง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
ข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตเป็นอย่างยิ่ง การป้องกันเบื้องต้นสามารถทำได้โดยระมัดระวังในการทำกิจกรรมต่าง ๆในชีวิตประจำวัน ไม่ให้ข้อเข่าได้รับการกดทับมากเกินไป หรือได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งการป้องกันตนเองโดยการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เป็นโรคนี้ ทำให้ห่างไกลจากโรคข้อเข่าเสื่อมและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

aufarm-logo

เราจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสมุนไพรในราคาย่อมเยา และมีคุณภาพจากโรงงานที่ทันสมัย  ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และตรวจสอบได้

Copyright © 2020 Aufarm / All rights reserved.

เมนูหลัก