ฟอกไต การช่วยชีวิตผู้ป่วยไตวายขั้นสุดท้าย

ฟอกไต
ไต คืออวัยวะสำคัญภายในร่างกายที่ทำหน้าที่กำจัดของเสีย ดูดซึม และเก็บสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย หากเมื่อใดที่ไตไม่สามารถทำหน้าที่ในการกรองหรือกำจัดของเสียออกจากร่างกาย จนทำให้ร่างกายเกิดวิกฤติและเกิดโรคแทรกซ้อนจนเป็นอันตรายถึงชีวิต ฟอกไต คือขั้นตอนการรักษาที่ทำควบคู่กับการใช้ยา เพื่อช่วยพยุงและประกับประคองให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้

การฟอกไต และประโยชน์ของการฟอกไต

ฟอกไตหรือ Hemodialysis เป็นวิธีการรักษาผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายหรือไตวายเฉียบพลัน เป็นการกำจัดของเสียที่อยู่ในร่างกายหรือในเลือดให้ออกไป ช่วยควบคุมความดันโลหิต โดยจะต้องกระทำร่วมกับการรับประทานยาควบคุมสารเคมีในร่างกายให้สมดุล เช่น โซเดียม โพแทสเซียม ให้ใกล้เคียงกับสภาพของร่างกายคนปกติ ช่วยกระตุ้นการดูดซึมแคลเซียมของร่างกาย เป็นการพยุงให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ การฟอกไต ถือเป็นขั้นตอนการทำงานแทนที่การทำงานของไต หรือที่เรียกกันว่าไตเทียม ซึ่งเป็นการทำงานแทนไตของผู้ป่วยที่ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อีกต่อไป หรือการฟอกไต ในกรณีที่ร่างกายของผู้ป่วยได้รับสารพิษที่เป็นอันตราย ฟอกไต จึงเป็นวิธีการช่วยกำจัดสารพิษที่อยู่ในร่างกายของผู้ป่วยเพื่อทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น

การฟอกไต มีกี่ประเภท

การฟอกไตมี 2 วิธี ซึ่งก่อนการรักษาผู้ป่วยสามารถเลือกวิธีการได้ และการฟอกไตแต่ละครั้งสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการได้ตามความเหมาะสม ดังนี้
  1. การใช้ไตเทียม (Hemodialysis) เป็นการฟอกไตด้วยการใช้เครื่องฟอกไตเทียม โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดสร้างเส้นฟอกเลือดเพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ระหว่างร่างกายของผู้ป่วยกับเครื่องฟอกไตเทียม เมื่อเลือดสามารถเข้าเครื่องฟอกได้ เลือดก็จะได้รับการกรองให้สะอาดก่อนนำกลับเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย โดยเส้นเลือดที่รองรับการฟอกไตแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ – เส้นเลือดที่เชื่อมระหว่างเส้นเลือดแดงและดำเพื่อให้เป็นเส้นเลือดขนาดใหญ่ – เส้นเลือดเทียม เป็นการนำเส้นเลือดเทียมเชื่อมระหว่างเส้นเลือดแดงและดำ – เส้นเลือดที่คอ เป็นการใช้พลาสติกใส่ไว้ที่เส้นเลือดดำที่บริเวณคอหรือขาหนีบ
  2. การฟอกทางช่องท้อง (Peritoneal Dialysis) เป็นการฟอกเลือดด้วยน้ำยาล้างไตผ่านทางช่องท้อง เพื่อให้ร่างกายปล่อยของเสียรวมกับน้ำยาที่อยู่ในช่องท้องตลอดเวลา เมื่อครบกำหนด 4-6 ชั่วโมงก็จะปล่อยน้ำยาออกมาและนำกลับเข้าไปใหม่

วิธีการและขั้นตอนการฟอกไต

  1. การใช้ไตเทียม (Hemodialysis) มีวิธีการและขั้นตอนต่าง ๆ เริ่มจากผู้เชี่ยวชาญจะนำเข็ม 2 เล่ม ใส่ในเส้นเลือดที่ใช้สำหรับฟอกไต เข็มแรกเป็นการส่งเลือดเข้าฟอกที่เครื่องไตเทียม โดยในเครื่องไตเทียมจะประกอบไปด้วยตัวกรองและน้ำยาฟอกไต เมื่อกรองของเสียเสร็จแล้วเลือกก็จะถูกฟอกด้วยน้ำยาฟอกไต เมื่อเลือดสะอาดก็จะถูกส่งกลับเข้าสู่ร่างกายผ่านทางเข็มที่ 2 วิธีการนี้ใช้เวลาประมาณ 3-5 ชั่วโมงต่อครั้งและต้องฟอก 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์
  2. การฟอกไตทางช่องท้อง (Peritoneal Dialysis) วิธีการก็คือ แพทย์จะทำการผ่าตัดใส่สายพลาสติกเพื่อเป็นช่องทางนำน้ำยาเข้าสู่ร่างกาย เมื่อทำการล้างไต โดยนำน้ำยาเข้าผ่านทางสาย ทางช่องท้อง จากนั้นก็ทิ้งไว้เพื่อให้ร่างกายขับของเสียออกมา เมื่อครบตามเวลาประมาณ 4 ชม.ก็จะนำน้ำยาออกจากช่องท้องและนำน้ำยาใหม่กลับเข้าทิ้งไว้ วิธีการนี้จะใช้เวลาในการล้างประมาณ 40 นาที ด้วยการทิ้งน้ำยาไว้ในช่องท้องประมาณ 4-6 ชั่วโมงและต้องทำซ้ำประมาณ 3-4 ครั้งต่อวัน ทำเช่นนี้ตลอดไปจนกว่าเนื้อเยื่อของช่องท้องจะเสีย

การเตรียมตัวผู้ป่วยก่อนการฟอกไต

เมื่อผู้ป่วยไตวายจำเป็นต้องมีการฟอกไต จะต้องมีการเตรียมตัวก่อนทำการฟอกไตดังนี้
  1. ผ่าตัดทำช่องทางนำเลือดหรือน้ำยาเพื่อเข้าสู่ขบวนการฟอกไต คือการผ่าตัดเส้นเลือดหากเป็นการฟอกไตด้วยเครื่องฟอกและผ่าตัดเพื่อสอดท่อพลาสติกทางช่องท้องหากเป็นการล้างไตทางหน้าท้อง ซึ่งขั้นตอนนี้จะกระทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
  2. ผู้ป่วยควรสวมใส่เสื้อผ้าที่สบาย ไม่อึดอัด ไม่เครียด
  3. ปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัดเพื่อให้วิธีฟอกไตเป็นไปอย่างถูกต้อง และป้องกันการติดเชื้อหรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ การดูแลตนเองหลังการฟอกไต
  4. ผู้ป่วยที่ใช้เครื่องฟอกไต จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติแต่ต้องมาฟอกเป็นประจำตามจำนวนครั้งที่ต้องฟอกใน 1 สัปดาห์และต้องกลับมาตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
  5. ผู้ป่วยที่ฟอกไตผ่านทางหน้าท้อง ถึงแม้จะมีน้ำยาอยู่ในท้องตลอดเวลาก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่การล้างไตจะต้องทำตามจำนวนครั้ง ด้วยวิธีที่ถูกต้องอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  6. ผู้ป่วยจะต้องทานอาหารตามหลักโภชนาการของผู้ป่วยโรคไต รวมทั้งจำกัดปริมาณการดื่มน้ำตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาความสมดุลของสารอาหาร และเพื่อให้การฟอกไตเกิดประสิทธิภาพต่อตัวผู้ป่วยอย่างสูงสุดอีกด้วย
บ้านหวุน เวียนหัว เวียนศีรษะ

ผลข้างเคียงของการฟอกไต

กรณีเครื่องฟอกไต

  1. อาจมีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ เป็นตะคริว
  2. เกิดการติดเชื้อ ที่บริเวณเส้นเลือด มีอาการไข้ หรือเส้นเลือดโป่งพอง เส้นเลือดอุดตัน
  3. เกิดความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  4. ร่างกายเสียสมดุล เกิดอาการปวดหัว อยู่ในอาการโคม่า
  5. ในด้านจิตใจ ผู้ป่วยเกิดอาการเครียดหรือเป็นซึมเศร้า

กรณีฟอกทางหน้าท้อง

  1. เยื่อบุช่องท้องอักเสบ ไม่สามารถฟอกต่อด้วยวิธีนี้ได้
  2. เกิดการติดเชื้อ ท่ออุดตัน
  3. บวมน้ำ ขับถ่ายยาก
  4. น้ำตาลในเลือดสูง
  5. ปวดหลังน้ำหนักตัวขึ้น ขาดสารอาหาร
  6. เครียดเป็นซึมเศร้า
การฟอกไต นับเป็นวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่สามารถประกับประคองและช่วยยื้อชีวิตผู้ป่วยไตวายขั้นสุดท้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้ และยังเป็นการช่วยให้ผู้ป่วยรอการปลูกไตที่สามารถเข้ากับร่างกายอย่างเหมาะสมได้ในอนาคตอีกด้วย
aufarm-logo

เราจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสมุนไพรในราคาย่อมเยา และมีคุณภาพจากโรงงานที่ทันสมัย  ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และตรวจสอบได้

Copyright © 2020 Aufarm / All rights reserved.

เมนูหลัก