รู้ทัน อาการแน่นหน้าอก สัญญาณบ่งบอกโรคหลอดเลือดหัวใจ

แน่นหน้าอก
อาการแน่นหน้าอก เป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกลักษณะของโรคร้ายแรงหลายชนิด โรคหลอดเลือดหัวใจ คือหนึ่งในโรคร้ายแรงเหล่านั้น และสิ่งสำคัญคนที่มีปัจจัยเสี่ยงหรือเริ่มป่วยด้วยโรคนี้ ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการบ่งบอก หรือไม่มีอาการแสดงออกมา จนกระทั่งหลอดเลือดหัวใจตีบมากขึ้น เมื่อเกิดการตีบตันทำให้หัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง หากอาการยังไม่รุนแรงมากนักก็จะทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอกเพียงชั่วขณะ กรณีอาการรุนแรงมาก ๆ อาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้

โรคหลอดเลือดหัวใจ คืออะไร ?

โรคหลอดเลือดหัวใจ คือภาวะที่ภายในผนังหลอดเลือดหัวใจเกิดการเกาะของคราบไขมัน ซึ่งเป็นการสะสมของคอเลสเตอรอลและสารต่าง ๆส่งผลให้หลอดเลือดตีบและอุดตันจนปิดกั้นการไหลเวียนของกระแสเลือด ให้ร่างกายไม่สามารถส่งกระแสเลือดและออกซิเจนไปยังหัวใจได้

อาการ และความรุนแรงของโรคหลอดเลือดหัวใจ

  1. แน่นหน้าอก ผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจขาดเลือดชั่วขณะจะมีอาการปวดแน่นหน้าอกคล้ายมีอะไรกดทับหรือจุกแน่นบริเวณกลางหน้าอกหรือยอดอก ซึ่งมักจะเจ็บร้าวมาที่หัวไหล่ซ้ายด้านในของแขน หรือบางรายอาจร้าวมาที่คอ ขากรรไกรหลัง หรือแขนขวาในรายที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ส่วนใหญ่จะมีอาการเจ็บหน้าอกในลักษณะเดียวกับโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ แต่จะเจ็บรุนแรงและต่อเนื่องนานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันๆ แม้จะได้พักก็ไม่ทุเลา บางรายอาจรู้สึกจุกแน่นที่ใต้ลิ้นปี่ คล้ายอาการอาหารไม่ย่อยหรือท้องอืดเฟ้อ
  2. หายใจติดขัด ผู้ป่วยบางรายที่หัวใจไม่ได้รับเลือดที่เพียงพอในการส่งต่อไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย อาจมีอาการหายใจติดขัดหรือหอบเหนื่อยรุนแรง
  3. หัวใจวาย ภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ผู้ป่วยมักมีอาการแน่นหน้าอกและปวดบริเวณหัวไหล่หรือแขน มีอาการหายใจติดขัดและเหงื่อออก หากผู้ป่วยมีภาวะความดันตกหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะร่วมด้วย อาจทำให้ผู้ป่วยหมดสติเกิดภาวะหัวใจวาย และเสียชีวิตได้
  4. หัวใจล้มเหลว เกิดขึ้นในขณะที่หัวใจอ่อนแรงจนไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ตามปกติ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจติดขัด จนเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง

สาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจ

โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือเส้นเลือดหัวใจตีบ เกิดจากผนังหลอดเลือดแดงแข็งและหนาตัว เนื่องจากมีไขมันเกาะอยู่ภายในผนังหลอดเลือดเรียกว่า ตะกรันท่อหลอดเลือดซึ่งจะค่อยๆพอกตัวหนาขึ้นจนทำให้ช่องทางเดินของเลือดตีบและแคบลงทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้น้อย  เมื่อมีการทำกิจกรรมต่าง ๆกล้ามเนื้อหัวใจต้องการออกซิเจนมากขึ้นในการเผาผลาญให้เกิดพลังงาน หากเลือดเข้าไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอก็จะทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอกขึ้นชั่วขณะ สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงแบ่งออกเป็น 3 ปัจจัย ได้แก่

ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้

  1. เพศ จากข้อมูลพบว่าผู้ชายมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่า แต่เมื่อเข้าสู่วัยทอง ผู้หญิงจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากขึ้น
  2. กรรมพันธุ์ จากสถิติพบว่าคนที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจหรือเส้นเลือดหัวใจตีบมาก่อน มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวสูงด้วยเช่นกัน
  3. อายุ คนที่มีอายุเท่าหรือมากกว่า 55 ปีในผู้ชายและอายุเท่าหรือมากกว่า  65 ปีในผู้หญิงมีความเสี่ยงมากกว่าคนอายุน้อย

ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้

ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้ด้วยตัวเอง เช่น หลีกเลี่ยงหรืองดการสูบบุหรี่ ผู้ป่วยที่มีภาวะโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน  โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน หากการทานยาไม่ถูกสุขลักษณะหรือขาดยาไม่ทานยาอย่างต่อเนื่อง และขาดการออกกำลังกาย ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจได้

ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ

ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น ความเครียด อารมณ์โกรธ การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า  และผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจหนา และอื่น ๆ

ปรึกษาแพทย์

การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจ

หากผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการแน่นหน้าอก หรืออาการอื่นที่บ่งบอกสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดหัวใจ จะได้รับการตรวจวินิจฉัยตามขั้นตอนต่าง ๆ ตามอาการและความเห็นของแพทย์ ดังนี้
  1. เมื่อมาพบแพทย์ด้วยอาการแน่นหน้าอก คนไข้จะได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจภายใน 10 นาที ร่วมกับซักประวัติคนไข้ สอบถามระยะเวลาที่เจ็บแน่นหน้าอก
  2. การเอกซเรย์ทรวงอก ใช้ตรวจดูสาเหตุและอาการต่าง ๆ ที่เกิดขี้นบริเวณหัวใจ ปอดและผนังทรวงอก
  3. การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
  4. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อวัดระดับ อัตราและความคงที่ของการเต้นหัวใจ
  5. การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง
  6. การสวนหลอดเลือดหัวใจ เป็นการตรวจดูภายในหลอดเลือดหัวใจ
  7. การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย
  8. บางกรณีแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงเพื่อบันทึกความผิดปกติของจังหวะการเต้นหัวใจระหว่างการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วย
  9. การฉีดสารกัมมันตรังสีไอโซโทป เข้าสู่กระแสเลือดเพื่อทราบถึงประสิทธิภาพการสูบฉีดเลือดและการไหลเวียนของเลือดไปยังผนังกล้ามเนื้อหัวใจ

แนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ

โรคหลอดเลือดหัวใจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถดูแลป้องกันตนเองได้ ส่วนแนวทางการรักษา มีดังนี้
  1. การรักษาด้วยการใช้ยา
  2. กลุ่มยาคอเลสเตอรอล ช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลในกระแสเลือด
  3. ยาต้านเกล็ดเลือด
  4. ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ ใช้รักษาความดันโลหิตสูงและป้องกันอาการเจ็บแน่นหน้าอก
  5. ยาขยายหลอดเลือด มีทั้งในรูปแบบเม็ด สเปรย์ หรือแผ่นสำหรับติดบริเวณผิวหนัง

การรักษาด้วยการผ่าตัดและกระบวนการทางการแพทย์

  1. การทำบอลลูนหัวใจ
  2. การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจหรือการทำบายพาสหัวใจ
  3. การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ใช้สำหรับกรณีที่รุนแรงและไม่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา หรือหัวใจไม่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
โรคหลอดเลือดหัวใจ ไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่ดูแลป้องกันตนเองได้ด้วยการดูแลปฏิบัติตนในชีวิตประจำวัน ควบคุมเรื่องอาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ และหลีกเลี่ยงอบายมุขหรือการเสพสิ่งที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรค และหากมีปัจจัยเสี่ยงควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ หรือมีอาการแน่นหน้าอก ปวดบริเวณหัวไหล่ แขน มีอาการหายใจติดขัดและเหงื่อออก ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคและทำการรักษาต่อไป
aufarm-logo

เราจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสมุนไพรในราคาย่อมเยา และมีคุณภาพจากโรงงานที่ทันสมัย  ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และตรวจสอบได้

Copyright © 2020 Aufarm / All rights reserved.

เมนูหลัก