รู้ทัน อาการโรคนิ่วในไต และทางเลือกในการรักษา

นิ่วในไต

Medical vector created by brgfx – www.freepik.com

โรคนิ่วในไต เป็นปัญหาสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต เนื่องจาก ไต เป็นอวัยวะสำคัญที่มีหน้าที่หลักคือกรองของเสียที่อยู่ในเลือด และขับถ่ายออกนอกร่างกายทางปัสสาวะ การมีนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะยังส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ การรู้ทันโรคนี้ช่วยให้เราป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคนิ่วในไตได้

โรคนิ่วในไต คืออะไร ?

นิ่วในไต คือ การตกผลึกของสารก่อนิ่วในไต เช่น แร่ธาตุ เกลือ แคลเซียม กรดออกซาลิก และกรดยูริก ในปัสสาวะจนเกิดการเกาะตัวเป็นก้อนมีขนาดที่แตกต่างกัน อาจเกิดขึ้นก้อนเดียวหรือหลาย ๆ ก้อน พบได้ตลอดระบบทางเดินปัสสาวะ และเป็นโรคที่พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่ผู้ชายอาจมีโอกาสเป็นได้มากกว่าผู้หญิง  

สาเหตุของโรคนิ่วในไต

นิ่วในไต เป็นโรคที่สร้างความเจ็บปวดทรมานให้ผู้ป่วยอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่จนไปปิดกั้นและเกิดแผลที่ท่อไต อาจส่งผลให้ปัสสาวะออกมาเป็นเลือดได้ ส่วนสาเหตุการเกิดนิ่วในไตยมีปัจจัยซึ่งส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมของผู้ป่วย เช่น

  • การรับประทานอาหารบางชนิด เช่น เกลือ น้ำตาล และ อาหารที่มีโปรตีนสูง
  • ดื่มน้ำน้อย หรือดื่มน้ำไม่มากพอในแต่ละวัน
  • การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
  • สาเหตุเกิดจากโรคประจำตัวที่เป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น ความดัน เบาหวานโรคเกาท์ หรือไทรอยด์ ทำให้ต้องทานยาเป็นประจำ
  • อาหารบางชนิดทำให้เกิดนิ่วในกลุ่มที่เสี่ยง เช่น ก้อนนิ่วจากแคลเซียม เป็นสารที่มักพบในอาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ ส้ม  ผักใบเขียว ถั่ว เต้าหู้ น้ำนมเต้าหู้  โซดา ชา เบียร์ หรือ กาแฟ ก้อนนิ่วจากกรดยูริก พบในผู้ป่วยโรคเกาท์หรือผู้ป่วยที่กำลังเข้ารับการเคมีบำบัด  นิ่วสตรูไวท์ ส่วนใหญ่พบในผู้หญิงที่มีการติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ และ ซีสทีน นิ่วชนิดนี้เกิดขึ้นได้ทั้งกับเพศชายและเพศหญิงที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมของซีสทีน

อาการของโรคนิ่วในไต

อาการของนิ่วในไตอาจไม่ปรากฏให้เห็น หากก้อนนิ่วนั้นมีขนาดเล็กมาก ๆ เพราะสามารถหลุดออกไปพร้อมกับการขับปัสสาวะ แต่หากก้อนนิ่วเคลื่อนตัวไปยังท่อไตซึ่งเป็นท่อเชื่อมต่อระหว่างไต และ กระเพาะปัสสาวะ อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ได้ 

  1. ปัสสาวะเป็นสีเข้ม อาจมีสีแดง ชมพู น้ำตาล หรือปัสสาวะเป็นเลือด
  2. ปวดบริเวณหลังหรือช่องท้องด้านล่างข้างใดข้างหนึ่ง อาจปวดร้าวลงไปถึงบริเวณขาหนีบ มีอาการปวดบีบเป็นระยะ และปวดรุนแรงเป็นช่วง ๆ
  3. ปวดปัสสาวะบ่อย แต่ปัสสาวะน้อยและเจ็บ
  4. ปัสสาวะขุ่นหรือมีกลิ่นแรง
  5. อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หนาวสั่น และมีไข้

นิ่ว

การรักษาและทางเลือกในการรักษานิ่วในไต

การรักษา นิ่วในไต ทำได้หลายวิธี และสามารถรักษาให้หายได้ขึ้นอยู่กับชนิดของก้อนนิ่วและสาเหตุการเกิด สำหรับการรักษาและทางเลือกในการรักษานิ่วในไต ทำได้ดังนี้

  1. การรักษานิ่วในไตที่มีขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 5 มิลลิเมตร อาจทำได้โดยการดื่มน้ำมาก ๆ ในแต่ละวัน นอกจากทำให้ปัสสาวะเจือจางจนไม่มีเหลืองหรือสีน้ำตาล ยังช่วยขับก้อนนิ่วออกไปพร้อมกับปัสสาวะอีกด้วย
  2. ก้อนนิ่วที่มีขนาดใหญ่กว่า 5 มิลลิเมตรขึ้นไป อาจทำให้เกิดแผลที่ท่อไตหรือการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ และไม่สามารถหลุดออกมาเองได้ การรักษาทำได้ ดังนี้
  • ใช้แรงสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงทำให้นิ่วแตกตัวเป็นชิ้นเล็ก ๆ จนสามารถผ่านออกทางการขับปัสสาวะได้ วิธีนี้เหมาะสำหรับก้อนนิ่วที่มีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร
  • ก้อนนิ่วที่มีขนาดไม่เกิน 3 เซนติเมตร สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดด้วยการใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กและเครื่องมือสอดเข้าไปบริเวณหลังของผู้ป่วย วิธีนี้ผู้ป่วยต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล 1-2 วัน
  • สำหรับก้อนนิ่วที่มีขนาดไม่เกิน 3 เซนติเมตร อาจเลือกรักษาด้วยการส่องกล้อง เพื่อฉายลำแสงแคบผ่านหลอดปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ แล้วใช้เครื่องมือชนิดพิเศษจับหรือทำให้ก้อนนิ่วแตกตัวเป็นชิ้นเล็กจนสามารถถูกขับออกมาทางเดินปัสสาวะได้

น้ำมะนาว

วิธีป้องกันตนเองจากโรคนิ่วในไต

  1. ปกติร่างกายของคนเราต้องการน้ำอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว สำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง ให้ดื่มน้ำมากกว่าวันละ 8 แก้ว หรือ ทำให้ปัสสาวะออกมากกว่าวันละ 2.5 ลิตร
  2. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพของตัวเอง วิธีที่ทำได้ง่าย ๆ คือการดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวันเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ การดื่มน้ำที่ถูกต้องควรใช้วิธีจิบน้ำบ่อย ๆ 
  3. การดื่มน้ำมะนาววันละแก้ว ช่วยป้องกันนิ่วในไต ที่เกิดจาก เกลือ และแคลเซียม ได้
  4. หมั่นสังเกตความเข้มข้นและสีของปัสสาวะระหว่างวัน ยกเว้นช่วงเช้าหลังตื่นนอนใหม่ ๆ เพราะร่างกายมักขับของเสียออกมาอยู่แล้ว
  5. การรับประทานอาหารก็เป็นส่วนหนึ่งที่อาจช่วยป้องกันการเกิดนิ่วในไตได้ โดยพยามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดออกซาลิกสูง เช่น ช็อกโกแลต นมถั่วเหลือง ชา มันฝรั่งหวาน บีทรูท กระเจี๊ยบเขียว หน่อไม้ฝรั่ง เบอร์รี่ ผักโขม ถั่วเปลือกแข็ง และเมล็ดธัญพืชต่าง ๆ

นิ่วในไตเป็นปัญหาสุขภาพที่นอกจากสร้างความทุกข์ใจให้กับผู้ป่วย ยังเป็นโรคที่ทำให้เจ็บปวดทรมาน การเรียนรู้วิธีป้องกันและดูแลรักษาสุขภาพตัวเองเพื่อไม่ให้เกิดโรคนี้ จึงเป็นการป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากนิ่วในไตที่ดีที่สุด

 

aufarm-logo

เราจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสมุนไพรในราคาย่อมเยา และมีคุณภาพจากโรงงานที่ทันสมัย  ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และตรวจสอบได้

Copyright © 2020 Aufarm / All rights reserved.

เมนูหลัก