โรคซึมเศร้า โรคที่คนส่วนใหญ่เป็นแล้วไม่รู้ตัว

ซึมเศร้า

ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารสามารถติดต่อถึงกันได้รวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ ทำให้เราได้อ่านข่าวหรือพบเห็นการทำร้ายตัวเองของผู้ที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าหลากหลายรูปแบบ และสิ่งที่เป็นอันตรายหรือถือเป็นภัยเงียบที่คนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวอาจมองข้ามไป ก็คือภาวะซึมเศร้าหรือโรคซึมเศร้า ซึ่งคนส่วนใหญ่เป็นแล้วไม่รู้ตัว เพื่อเป็นความรู้ให้เรารู้ทันโรค วันนี้ aufarm.shop มีความรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าในแง่มุมต่าง ๆ มาแนะนำค่ะ

โรคซึมเศร้าคืออะไร ?

ในทางการแพทย์ “ซึมเศร้า” คือ ภาวะซึมเศร้าที่มีมากกว่าอารมณ์เศร้า โดยคนที่เป็นโรคซึมเศร้านั้น ในสมองจะมีสารเคมีที่มีชื่อว่า “เซโรโทนิน” ในปริมาณที่ลดลง ซึ่งสารเคมีที่อยู่ในสมองนี้เมื่อมีปริมาณลดลง จะส่งผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก และทำให้พฤติกรรมเปลี่ยน เช่น มีอาการเศร้า เหงาหงอย รู้สึกเบื่อหน่าย หรือท้อแท้ในชีวิต รวมทั้งมีปัญหาทางสุขภาพทางกายร่วมด้วย

สาเหตุของโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าถือเป็นโรคทางด้านจิตเวชที่พบมากเป็นอันดับต้น ๆ สาเหตุของโรคแบ่งออกเป็น 2 สาเหตุหลัก ได้แก่

  1. สาเหตุจากภายในร่างกาย เนื่องจากพบว่าผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าส่วนหนึ่งมาจากกรรมพันธุ์ คือการที่มีบุคคลในครอบครัว เช่น พ่อแม่ ปู่ย่าหรือตายายเคยป่วยด้วยโรคซึมเศร้า
  2. สาเหตุจากภายนอกร่างกาย คือความสามารถในการปรับตัวของมนุษย์ที่แต่ละบุคคลต่างมีไม่เท่ากันหรือที่มักเรียกว่าการแก้ปัญหา ในคนที่สามารถปรับตัวได้จากผลกระทบที่เข้ามาในชีวิต ย่อมที่จะสามารถอยู่หรือแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิตได้ ในทางตรงกันข้ามบุคคลใดเจอผลกระทบ เช่น ความเครียดจากเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในครอบครัว หน้าที่การงาน การเงิน ความรักหรือแม้กระทั่งความสูญเสีย หากบุคคลนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ก็อาจกลายเป็นคนที่ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า
เก็บตัว โดเดี่ยว

ภาพโดย Wolfgang Eckert จาก Pixabay

อาการหรือสัญญาณบ่งบอกภาวะซึมเศร้า

  • ชอบเก็บตัวอยู่คนเดียวเงียบ ๆ
  • มองโลกในแง่ร้าย รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า โดดเดี่ยว และมีความรู้สึกผิดมักโทษตัวเองเมื่อทำสิ่งใดผิดพลาด
  • บางคนอาจมีอารมณ์หงุดหงิด ก้าวร้าว ยึดมั่นในความคิดของตนเองมากกว่ารับฟังคนอื่น
  • นอนไม่หลับ หรือนอนนาน นอนมากกว่าคนปกติ
  • มีความคิดที่จะฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย และทำร้ายตัวเอง

เกณฑ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า

การวินิจฉัยโรคซึมเศร้าด้วยตนเอง มีเกณฑ์การวินิจฉัย ดังนี้

  • มีอารมณ์ซึมเศร้า หรืออารมณ์หงุดหงิดแทบทั้งวัน
  • ความสนใจหรือความเพลินใจในกิจกรรมต่าง ๆ ลดลงอย่างมาก และเป็นทั้งวัน
  • น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก มีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมาก
  • นอนไม่หลับ หรือหลับมากไป
  • กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือมีพฤติกรรมเชื่องช้าลง
  • อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง
  • รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า
  • สมาธิลดลง ใจลอย หรือลังเลใจ ในทุก ๆ เรื่อง
  • คิดเรื่องการตาย หรือคิดอยากตาย

สำหรับผู้ที่อยู่ในเกณฑ์เป็นโรคซึมเศร้า ต้องมีอาการในข้อ 1 หรือ 2 อย่างน้อย 1 ข้อ อาการเป็นอยู่นาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป และต้องมีอาการเหล่านี้อยู่เกือบตลอดเวลาแทบทุกวัน ไม่ใช่เป็น ๆ หาย ๆ

การวินิจฉัยโรคซึมเศร้าโดยแพทย์ มีเกณฑ์การวินิจฉัย ดังนี้

  • แพทย์จะสอบถามอาการเพื่อให้ทราบการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่มีอาการครั้งแรกไล่มาตามลำดับจนปัจจุบัน
  • สอบถามอาการ เพื่อพิจารณาว่าผู้ป่วยมีอาการทางงจิตเวชอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับอาการของโรคซึมเศร้า
  • ถามประวัติการเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น โรคประจำตัว และยาที่ใช้ประจำ เพื่อดูว่าอาจเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้าได้หรือไม่
  • สอบถามประวัติความเจ็บป่วยในญาติสายเลือดเดียวกัน
  • ตรวจร่างกาย และส่งตรวจพิเศษที่จำเป็น ในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีโรคทางร่างกายอื่น

การรักษาและขั้นตอนการรักษาโรคซึมเศร้า

การรักษาที่สำคัญ คือการรักษาด้วยยาแก้ซึมเศร้า โดยเฉพาะในรายที่มีอาการมาก ส่วนในรายที่มีอาการไม่มาก แพทย์อาจรักษาด้วยการช่วยเหลือชี้แนะการมองปัญหาต่าง ๆ ในมุมมองใหม่ แนวทางในการปรับตัว หรือการหาสิ่งที่ช่วยทำให้จิตใจผ่อนคลายความทุกข์ใจลง ร่วมกับการให้ยาแก้ซึมเศร้าหรือยาคลายกังวลเสริมในช่วงที่เห็นว่าจำเป็น

วิธีป้องกันตนเองให้ห่างไกลโรคซึมเศร้า

  • หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง และขณะออกกำลังกายร่างกายยังหลั่งสารเอ็นโดรฟิน (Endorphine) ออกมาทำให้สุขภาพจิตดี อารมณ์ดี ผ่อนคลาย และไม่เครียดง่าย
  • พยายามหากิจกรรมหรืองานอดิเรกทำยามว่าง อาจเป็นงานฝีมือที่ชื่นชอบ ทำอาหาร ทำขนม หรือปลูกพืชผักสวนครัว
  • หลีกเลี่ยงการเก็บตัวอยู่คนเดียวเงียบ ๆ ควรหากิจกรรมทำร่วมกับคนอื่น ๆ เช่น เข้าเป็นสมาชิกของชมรมต่าง ๆ หรือบริหารเวลาเพื่อท่องเที่ยวพักผ่อนบ้าง
  • พักผ่อนอย่างเพียงพอ ใช้ชีวิตอย่างเป็นระบบ เช่น เข้านอนเป็นเวลา ทานอาหารเป็นเวลา การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอทำให้ร่างกายสดชื่น ส่งผลต่อสุขภาพจิตด้วย
    เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ครบทุกหมวดหมู่อย่างพอเหมาะ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนและสมดุล ดื่มน้ำอย่างน้อย 8–10 แก้วต่อวัน

โรคซึมเศร้าหรือภาวะซึมเศร้า เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศและทุกวัย ปัจจุบันยังพบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น สาเหตุสำคัญอาจเกิดจากสภาพแวดล้อมในสังคม ครอบครัว งานหรือการเงิน หรือแม้แต่เรื่องที่เราคิดว่าเล็กน้อยก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้าได้ ดังนั้นการรู้ทันโรคและการให้ความรักความเข้าใจ การเอื้ออาทรต่อกันไม่ว่าจะในครอบครัวหรือคนรอบข้าง คือวิธีที่จะทำให้เราปลอดภัยจากโรคซึมเศร้า และสามารถใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้อย่างมีความสุข

aufarm-logo

เราจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสมุนไพรในราคาย่อมเยา และมีคุณภาพจากโรงงานที่ทันสมัย  ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และตรวจสอบได้

Copyright © 2020 Aufarm / All rights reserved.

เมนูหลัก